ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐสภาถกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ม.17 ตัดสิทธิ ตร.ชั้นประทวนร่วมโหวต ก.ตร.

การเมือง
16 มิ.ย. 65
15:39
491
Logo Thai PBS
รัฐสภาถกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ม.17 ตัดสิทธิ ตร.ชั้นประทวนร่วมโหวต ก.ตร.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐสภามีมติตัดสิทธิตำรวจชั้นประทวนร่วมโหวต ก.ตร. ด้าน "ขจิตร" รับเสียใจ พร้อมประกาศไม่ขอร่วมสังฆกรรมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

วันนี้ (16 มิ.ย.2565) ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พิจารณามาตรา 17 ที่ประชุมมีมติ 147 ต่อ 255 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขและให้กลับไปใช้ร่างเดิม ที่กำหนดให้การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 14 (5) ให้ข้าราชการตำรวจ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับ หรือ เทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้เลือก

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า หากกลับไปใช้ร่างเดิมอาจเกิดความสับสนเรื่องนิยามของคำว่า "กรรมการ" ซึ่งตามคำนิยามหมายถึง คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ แต่ใน มาตรา 17 หมายถึง กรรมการข้าราชการตำรวจ

ขณะที่นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ลุกขึ้นอภิปรายกล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับนายตำรวจชั้นประทวน 150,000 คน เพราะในกฎหมายปฏิรูปได้เสนอให้ร่วมเลือกตั้ง ก่อนจะประกาศไม่ขอร่วมสังฆกรรมในการพิจารณากฎหมายเฉพาะวันนี้ เพราะมติมาตรา 17 สะท้อนว่า อำนาจเผด็จการครอบงำรัฐสภา

ช่วงหนึ่งเมื่อรัฐสภาโหวตกลับไปร่างเดิมทำให้มีสมาชิกกังวลว่า จะกระทบกับถ้อยคำในมาตราอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้อง ประธานในที่ประชุมจึงสังพักประชุมไป 10 นาที เพื่อให้กรรมาธิการหารือกัน

เมื่อกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง กรรมาธิการได้ชี้แจงว่า ไม่กระทบกับมาตราอื่น ๆ ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ขออภิปรายบันทึกไว้ว่า มาตราดังกล่าว "เพื่อให้เข้าใจในเวลาบังคับใช้กฎหมายเข้าใจตรงกันว่า ในมาตรา 17ที่ระบุว่า การเลือกกรรมการ หมายถึง ข้าราชการตำรวจ" ซึ่ง มาตรา 14 (5) ก็ระบุไว้ด้วยอยู่แล้วหมายถึงข้าราชการตำรวจ ทั้งที่มียศและไม่มียศ และชี้แจงว่าหลังเสร็จสิ้นพิจารณวาระ 2 รายมาตรา จะเสนอปรับถ้อยคำในตอนท้าย ซึ่งได้อภิปรายบันทึกไว้แล้ว นำไปอ้างอิงว่า "กรรมการ หมายถึง กรรมการข้าราชการตำรวจ"

ทั้งนี้ ในประเด็นข้อกังวลมีสมาชิกอภิปรายแสดงข้อกังวล และแนวทางออก ทั้งการเดินหน้าต่อหากมีปัญหาก็รับผิดชอบร่วมกัน หรือ ให้กรรมาธิการถอนร่างนำกลับไปแก้ไขไม่ให้กระทบมาตราอื่น ๆ แล้วพิจารณาวาระต่อไป คือ ร่าง พ.ร.ป.กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 ฉบับ แต่สุดท้ายที่ประชุมเดินหน้าพิจารณาต่อ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง