เมื่อจัดทำเสร็จ รัฐบาลได้ส่งต่อไปให้กับชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รองรับการปฏิรูปครั้งใหม่ เดือนเมษายน 2561 ก่อนจะมีการแต่งตั้งกรรมการพิจารณาอีกครั้งในปี 2562 มีนายมีชัยเป็นประธานเช่นกัน
แต่ต้องส่งร่างไปให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบแก้ไขเสียก่อน จึงนำไปสู่ประเด็นคำถามตามมาอย่างน้อย 2 ข้อ 1.ใช้เวลาดำเนินการนานถึง 1 ปีเต็ม จนโดนเหน็บในทีว่า เก็บดองไว้นาน และ 2.เนื้อหาสาระในร่างที่ส่งกลับ กลายเป็นการแปลงร่าง แตกต่างจากต้นร่างชุดนายมีชัยแบบหนังคนละม้วน
จากต้นร่างเดิม ชุดของพล.อ.บุญสร้าง กำหนดให้นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เพียงกำหนดนโยบาย แต่ให้ ผบ.ตร.มีอำนาจเต็ม ตั้งแต่เลื่อน ลด ปลด ย้าย และมีการโอนถ่ายภารกิจ ให้อิสระในการบริหารและงบประมาณ
ถึงร่างนายมีชัย ได้เพิ่มเติมให้มีการเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็น ก.ตร.(คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ปรับสัดส่วนให้หลากหลายมากขึ้น มีผู้บังคับบัญชาเฉพาะสำหรับสายงานการสอบสวน
แต่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ....ที่ผ่านการตรวจสอบแก้ไขโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ มีข้อครหาว่า
ถูก “แปลงร่าง” จากโครงสร้างเดิมอย่างชัดเจน ท่ามกลางเสียงร่ำลือในกลุ่มฮาร์ดคอร์การเมืองว่า ไม่น่าจะเป็นได้แต่เป็นไปแล้ว เพราะเมื่อจัดทำร่างเสร็จ ต้องส่งไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งก่อน
เมื่อมีสาระปรับลดบทบบาทและอำนาจที่ “บิ๊ก” ตำรวจเคยมีเคยได้ลง เนื้อหาในร่างที่ส่างกลับคืน จึงมีการตัดทอนเรื่องโดนลดบทบาทและถูกทอนอำนาจออกไป จนเป็นการ “แปลงร่าง” ผิดไปจากต้นร่างที่ถูกส่งมาตอนแรก
นอกจากการประชุมพิจารณาของสภาฯ จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทั้งที่มีร่างกฎหมายสำคัญรอคิวพิจารณาอยู่ในลำดับถัดไป คือร่างแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว ยังมีเรื่องประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า ตรงใจกลุ่มที่อยากเห็นการปฏิรูปตำรวจหรือไม่
เฉพาะในการประชุมวันที่ 16 มิ.ย.2565 มีทั้งเรื่องตัดสิทธิ์ตำรวจชั้นผู้น้อย ไม่ให้มีสิทธิ์โหวตเลือก ก.ตร. และเรื่องเปิดทางให้ฝ่ายการเมือง คือนายกรัฐมนตรี กลับไปนั่งเป็นประธาน ก.ตร. หรือประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งจะผู้เสนอรายชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ผ่านที่ประชุม ก.ตร.
ต่างจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 ที่ยังคงใช้อยู่ เพราะอำนาจการเสนอชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ เป็นของ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ผ่านที่ประชุม ก.ตร. จากนั้นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำความกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ด้วยข้ออ้างถ่วงดุลอำนาจผบ.ตร. ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับในอดีตของอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นแตกต่างออกไป และไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย กระทั่งนำไปสู่การแก้ไขและให้อำนาจ ผบ.ตร. ไม่ใช่ให้อำนาจฝ่ายการเมือง ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนต่อไป
เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ ยังเหลือการพิจารณาอีกประมาณ 100 มาตรา คาดการณ์กันว่า สภาฯ อาจต้องใช้เวลาประชุมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ยาวไปถึงต้นเดือนกรกฎาคม อีกทั้งเนื้อหายังต้องลุ้นอีกหลายเรื่อง
รวมทั้งอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุล การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งเป็นที่มาของสารพัดตั๋ว รวมทั้ง “ตั๋วช้าง” ที่ถูกหยิบยกไปใช้ในการอภิปรายไม่ว้างใจรัฐบาลในครั้งที่ผ่านมา
พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จึงสำคัญและเชิญชวนติดตามดูบทสรุปสุดท้ายด้วยใจที่จดจ่อ ห้ามกระพริบตา