วันนี้ (22 ธ.ค.2565) โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เดินทางถึงทำเนียบขาว แล้ว เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐฯ เข้าพบกับโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ก่อนจะแถลงข่าวร่วมกัน
โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอบคุณสมาชิกสภาทั้งสองพรรคการเมือง สภาคองเกรส และส่งผ่านคำขอบคุณอเมริกันชน จากประชาชนชาวยูเครน พร้อมทั้งมอบเหรียญที่ได้รับมาจากทหารแนวหน้ายูเครนให้แก่ไบเดน
ส่วนโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ชื่นชมเซเลนสกีในฐานะบุคคลแห่งปี ตามที่ได้รับการยกย่องโดยนิตยสารไทม์ก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ให้คำมั่นจะเดินหน้าส่งเสริมความแข็งแกร่งของกองทัพยูเครนเพื่อรับมือกับการคุกคามของรัสเซียต่อไป
ตั้งแต่ก่อนผู้นำยูเครนเดินทางถึง บรรยากาศในกรุงวอชิงตัน ดีซี เต็มไปด้วยการยกระดับการรักษาความปลอดภัยรอบทำเนียบขาว รับการเยือนของผู้นำยูเครน
สหรัฐฯ เตรียมส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนเพิ่ม
ระหว่างที่ผู้นำยูเครนเดินทางมาที่สหรัฐฯ แอนโทนี เจ. บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่า สหรัฐฯ จะส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนอีก 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทริออท ที่ล้ำสมัยที่สุดระบบหนึ่ง
หลังจากนี้เวลา 19.30 น. ตามเวลาสหรัฐฯ หรือราว 07.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เซเลนสกีมีกำหนดจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสแบบซึ่งหน้า หลังจากที่ผ่านมาเป็นการสื่อสารผ่านวิดีโอคอลมาโดยตลอด ตั้งแต่การกล่าวสุนทรพจน์ทางไกลเมื่อเดือน มี.ค. ไม่กี่สัปดาห์หลังรัสเซียเปิดฉากบุก และครั้งนั้นเซเลนสกีเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ พร้อมหยิบยกกรณีในอดีตอย่างการโจมตีฐานทัพเรือ Pearl Harbor ขึ้นมาสนับสนุน
ผู้นำยูเครนออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
การเดินทางเยือนในครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 300 วัน นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครนและถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำยูเครนเดินทางออกนอกประเทศ หลังสงครามปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
ภาพที่เกิดขึ้นในวันนี้ กับการเดินทางมาเรียกร้องความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ ของผู้นำยูเครน เป็นสิ่งที่หลายคนไม่คิดว่าจะได้เห็น เพราะไม่มีใครคาดคิดว่ายูเครนจะต้านทานการระดมถล่มจากรัสเซีย มหาอำนาจทางการทหาร ได้นานถึง 10 เดือนเต็ม
โอกาสสำคัญนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความประหลาดใจหรือกำลังใจในหมู่พันธมิตร แต่ยังเป็นการแสดงให้สหรัฐฯ เห็นว่าการลงทุนลงแรงสนับสนุนยูเครนที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า
ส่วนตัวเซเลนสกีเอง เป็นผู้นำที่สร้างความประหลาดใจอยู่บ่อยครั้งด้วยการไปปรากฏตัวตามพื้นที่แนวหน้าต่าง ๆ รวมถึงก่อนที่จะออกเดินทางมายังสหรัฐฯ เซเลนสกีเพิ่งจะไปปรากฏตัวที่เมือง Bakhmut ที่กำลังเผชิญการโจมตีจากรัสเซีย
ย้อนกลับไปเมื่อสงครามปะทุขึ้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เสนอความช่วยเหลืออพยพเขาออกจากกรุงเคียฟ แต่เขาปฏิเสธ และขออยู่ในสมรภูมิ เป็นหนึ่งสิ่งที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวยูเครนมาตั้งแต่ต้น
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2021 เซเลนสกีเคยเข้าพบกับไบเดนทีทำเนียบขาวมาแล้วครั้งหนึ่ง เวลานั้นไบเดนย้ำถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนอธิปไตยและดินแดนของยูเครน ที่เผชิญภัยคุกคามจากรัสเซีย
ผู้นำยูเครนใกล้ชิดบรรดาผู้นำสหรัฐฯ มาโดยตลอด อย่างก่อนหน้านี้ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ยังเป็นประธานาธิบดี เซเลนสกีเคยเยือนนิวยอร์กปี 2019 ซึ่งขณะนั้นเขาปฏิเสธว่าไม่ได้ถูกทรัมป์กดดันให้ร่วมมือทำลายภาพลักษณ์ของไบเดน ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020
ปูตินยืนกรานรัสเซียไม่ใช่ฝ่ายผิดในสงคราม
ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหวจากฝั่งรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่า เขาเชื่อว่าสงครามในยูเครนครั้งนี้จะกล่าวโทษรัสเซียแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ และทั้งสองประเทศคือ รัสเซียและยูเครนต่างก็ต้องเผชิญความสูญเสีย
ปูติน ย้ำว่ายังคงเห็นยูเครนเป็นเสมือนพี่น้อง และกล่าวโทษว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายของบรรดาประเทศที่สาม ซึ่งสื่อถึงแนวคิดที่ปูตินใช้อ้างในการเปิดปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร ว่า รัสเซียกำลังรับมือการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตก พร้อมกล่าวด้วยว่า รัสเซียพยายามผูกมิตรกับยูเครนนานหลายปี ทั้งพยายามเสนอเงินกู้และขายพลังงานให้ในราคาถูก แต่ไม่เป็นผล
ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางการเสนอขยายขนาดของกองทัพรัสเซียด้วยการเพิ่มกำลังพล 30% เป็น 1,500,000 นาย โดย เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระบุว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายและภารกิจต่าง ๆ เพื่อรับใช้ชาติและดูแลความมั่นคงของรัสเซีย
โดยกำลังพลทั้งหมด 1,500,000 นาย ที่เป็นเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถครั้งนี้ จะประกอบไปด้วยทหารรับจ้างถึง 695,000 นาย โดยชอยกู ระบุว่า รัสเซียควรต้องเรียนรู้และแก้ไขปัญหาจากประสบการณ์ที่ได้รับในยูเครน