วันนี้ (4 ม.ค.2566) เวลา 11.00 น. พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทัพเรือยังดำเนินการค้นหาผู้สูญหายจากเรือหลวงสุโขทัยอับปางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามแนวชายฝั่ง ซึ่งชุดปฏิบัติการพิเศษของ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ได้แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุดประกอบด้วย ชุดค้นหาใต้น้ำ ชุดค้นหาผิวน้ำ และชุดค้นหาบนเกาะ
ทั้งนี้ ได้ปูพรมค้นหาตามเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.ชุมพร รวมถึงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ซึ่งมีเกาะทั้งหมด 33 เกาะ โดยก่อนหน้านี้ได้สำรวจไปแล้ว 25 เกาะ และเมื่อวานนี้ (3 ม.ค.2566) ได้ทำการสำรวจ 8 เกาะ ประกอบด้วย เกาะคางเสือ เกาะรังห้า เกาะมะพร้าว เกาะยอ เกาะขี้นก เกาะรางบรรทัด เกาะคราม และเกาะพิทักษ์ ถือว่าได้ทำการสำรวจครบทุกเกาะของจังหวัดชุมพรแล้ว
อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือยังไม่หยุดการค้นหากำลังพลที่สูญหายอีก 5 นาย โดยส่งชุดปฏิบัติการพิเศษเรือยาง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้าค้นหาในพื้นที่อื่นที่คาดว่าจะพบร่างของกำลังพลต่อไป โดยในวันนี้จะเข้าทำการค้นหาในพื้นที่หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนี้ยังไม่มีการพบผู้สูญหายเพิ่ม
พระราชทานเพลิง "หมอแชมป์-จ.อ.ไพร"
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้จะมีพิธีพระราชทานเพลิงกำลังพลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง จำนวน 2 นาย ประกอบด้วย จ่าเอกไพร ร่วมญาติ ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือสัตหีบ ในเวลา 15.00 น โดยมีพลเรือเอกอะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี และพันจ่าเอกคุณากร จริยศ หรือหมอแชมป์ ณ วัดศรีวโณภาสสถิตย์พร ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง ในเวลา 16.00 น. โดยมีพลเรือโทสุทิน หลายเจริญ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี โดยในวันพรุ่งนี้ (5 ม.ค.2566) เวลา 10.00 น. กองทัพเรือจะจัดให้มีพิธีลอยอังคารพันจ่าเอกคุณากร และจ่าเอก ไพร บนเรือหลวงนเรศวร โดยมีพลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ ในส่วนของสิทธิกำลังพลและการให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบนั้น ทางกองทัพเรือ โดยพลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิกำลังพลดำเนินการเพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ครอบครัวของกำลังพลในด้านต่าง ๆ ตามระเบียบข้อบังคับอย่างเร่งด่วน โดยเงินช่วยเหลือแก่ทายาทผู้สูญเสีย ประกอบด้วยเงินจากส่วนต่าง ๆ 5 ส่วน ดังนี้
เงินตามสิทธิด้านกำลังพล เช่น เงินช่วยพิเศษ บำเหน็จตกทอด และบำนาญพิเศษ ทั้งนี้ เป็นไปตามสิทธิด้านกำลังพลของกำลังพลแต่ละราย โดยมีขั้นตอนการเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์และระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนด
- เงินจากกองทุนต่าง ๆ ของกองทัพเรือ เช่น กองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดชอบกองทัพเรือ
- เงินประกันภัย เช่น เงินประกันภัยหมู่กองทัพเรือ
- เงินสวัสดิการกองทัพเรือ และ เงินฌาปนกิจกองทัพเรือสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก
- เงินที่หน่วยงานภาคเอกชนร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวกำลังพล
สรุปการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ วันที่ 4 ม.ค.2566 เวลา 11.00 น. ยอดกำลังพล 105 นาย รอดชีวิต 76 นาย เสียชีวิตรวม 24 นาย อยู่ในระหว่างการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล 1 นาย