นกโดโด (Dodo) คือ นกขนาดยักษ์ ที่กินเก่ง และบินไม่ได้ คล้ายกับนกกระจอกเทศในปัจจุบัน ซึ่งได้สูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 หลังจากที่ชาวยุโรปได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนเกาะมอริเชียส (Maritius) แหล่งที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวของนกโดโดทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งใครจะไปคิดว่าในปัจจุบันทาง Colossal Science บริษัทสตาร์ตอัปจากรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา จะมีแผนที่จะชุบชีวิตนกโดโดให้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง
โครงการชุบชีวิตนกโดโดนี้ เป็นโครงการชุบชีวิตสัตว์โครงการที่ 3 ของบริษัท Colossal Science ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันกับที่เคยมีการประกาศแผนการคืนชีพช้างแมมมอธ และเสือแทสมาเนีย เมื่อ 2 ปีก่อนหน้าเช่นกัน
ทางบริษัทเปิดเผยว่า การฟื้นคืนชีพนกโดโดนั้น มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเกิดขึ้นก่อนสัตว์ประเภทอื่น เนื่องจากศาสตราจารย์ Beth Shapiro จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) สามารถเก็บกู้ข้อมูลดีเอ็นเอจากโครงกระดูกนกโดโดที่หลงเหลืออยู่ไว้ได้
หลังจากนี้ ทางบริษัทมีแผนที่จะตัดต่อพันธุกรรมนกพิราบนิโคบาร์ (Nicobar Pigeon) ซึ่งเป็นสายพันธุ์นกเครือญาติที่ใกล้ชิดที่สุดกับนกโดโดทีละเล็กทีละน้อย จากรุ่นสู่รุ่น จนกลายสภาพเป็นนกโดโดในที่สุด และด้วยวิธีการนี้นักวิทยาศาสตร์จึงไม่ต้องเสียเวลาคิดค้นเทคโนโลยีการโคลนนิ่งและครรภ์เทียมขึ้นมาใหม่อีกด้วย ซึ่งทางบริษัทมีแผนที่จะปล่อยนกโดโดกลับคืนสู่แหล่งที่อยู่เดิม ณ หมู่เกาะมอริเชียส
แต่ถึงกระนั้นบริษัท Colossal Science ก็กลับได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์หลายฝ่ายว่า นกโดโดที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่จะสามารถเอาตัวรอดในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมได้หรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันเกาะมอริเชียสนั้นไม่ได้เต็มไปด้วยผืนป่าเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่กลับเต็มไปด้วยฟาร์มอ้อยมากมายยึดครองพื้นที่อยู่ ประกอบกับมีผู้ล่าต่างถิ่นมากมายที่เข้ามาอยู่อาศัยในหมู่เกาะมอริเชียส
ในทางกลับกันผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างกลับมองว่าการที่ Colossal Science ตัดสินใจกลับมาเลือกนกโดโดเข้ามาอยู่ในรายการฟื้นคืนชีพนั้นเป็นเพราะว่าดึงดูดนักลงทุนเข้ามามากกว่า เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าการนำสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมามีชีวิตนั้นเป็นไปได้ และนำไปสู่การพัฒนากระบวนการชุบชีวิตช้างแมมมอธ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักให้กลับมาเสียมากกว่า
ที่มาข้อมูล: MIT Technology Review , Bloomberg
ที่มาภาพ: Colossal Science
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech