วันที่ 2 มี.ค.2566 เพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ เจ้าของเพจเป็นคุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอด โพสต์ข้อความว่า
"เช้านี้ผมขึ้นตื่นมาพร้อมกับค่าฝุ่น 186 ในห้องที่กำลังรอรับการฉายแสงครับ
ผมก็ไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมเป็นมะเร็งหรอกครับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล"
นอกจากนี้ ยังระบุว่า ตอนนี้ผมอาการไม่สู้ดีนัก กำลังเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสงให้กับมะเร็งในสมองก้อนใหม่
เวลาของผมเหลือน้อยลงทุกที ระหว่างที่ผมนั่งอยู่ในห้องพักโรงพยาบาล ผมก็คิดว่า ยังมีเรื่องไหนที่ผมอยากพูด แต่ยังไม่ได้พูดหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่อง ฝุ่น PM 2.5
โดยคุณหมอคำถามว่า ฝุ่น PM 2.5 คือมันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือไม่ ที่ต้องแบกรับค่าหน้ากาก ค่าเครื่องฟอก ประชาชนหลายอาชีพเองก็ไม่ได้สะดวกพอที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นอันตรายนี้ ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะติดตั้งเครื่องมือที่จะเพิ่มคุณภาพอากาศที่พวกเขาต้องหายใจเข้าไปทุกวันนี้
มันน่าเศร้ามากเมื่อมองว่าความเหลื่อมล้ำของประเทศเรามันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแต่เป็นตั้งแต่พื้นฐานเรื่องของอากาศหายใจที่แสนจะสำคัญต่อชีวิตคน
เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆ เหรอ?
คุณหมอ บอกว่า ตัวเขาไม่ใช่นักการเมือง และผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ ผมเป็นเพียงประชาชนที่เกิดคำถามเชิงโครงสร้างต่อ "การจัดลำดับและให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศที่ประชาชนอย่างเราหายใจกันอยู่ทุกวันนี้"
คุณหมอ บอกว่า หากคิดแบบตรรกะของคนทั่วไปเลยคือเราต้องเริ่มแก้ปัญหา PM2.5 ให้ตรงจุดก่อน และจัดลำดับความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดของ PM2.5 อย่างจริงจัง มันจะต้องมีหน่วยงานจริงจังขึ้นมาแล้ว เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ คนเก่งๆ ในประเทศเรามีเยอะแยะ งบประมาณเราก็มี นักการเมืองก็มี นักวิชาการก็มี
ไทยติดอันดับปัญหาฝุ่นในระดับโลกกันมาติดต่อกันหลายปี แต่ทำไมถึงยังไม่เห็นความชัดเจนในการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอากาศ หรือความชัดเจนในการพยายามหาต้นตอของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ มันไม่ใช่แค่การเผาป่า หรือปัญหารถติด
แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีงานศึกษาที่ชัดเจนและลงลึกถึงสาเหตุ PM 2.5 หลัก ๆ ในประเทศไทยว่าตกลงอะไรคือสาเหตุหรือแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 ในประเทศไทยแต่ละภาคส่วนกันแน่ มันต้องมีการวิเคราะห์และไปแตะสิ่งที่เป็นรากฐานของปัญหาของฝุ่น PM2.5 อย่างแท้จริง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืนสักที จริงไหม?
เราจะแก้ปัญหาฝุ่นควันแบบเป็นปัญหา "เร่งด่วน" ไปทุกปีแบบนี้ไม่ได้นะครับ
คุณหมอ ทิ้งท้ายว่า ผมน่ะ คงอยู่ได้ไม่นานหรอกครับ แต่เด็กน้อยแสนน่ารักที่ทักทายผมในลิฟท์หลังจากที่ผมไปฉายแสงมาเมื่อวาน
แค่คิดว่าเด็กเหล่านั้นไม่ควรต้องมารับความเสี่ยงกับโรคร้ายหรือภาวะเจ็บป่วยเหมือนกับผม เขาควรจะได้มีสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ คือการได้มีอากาศสะอาดหายใจ ได้เล่นบาสกับเพื่อนกลางแจ้ง โดยที่ไม่ต้องใส่หน้ากาก เขาไม่ควรต้องมาซื้ออากาศหายใจครับ
ผมเพียงหวังให้เขาจะได้อยู่ในประเทศที่อากาศที่สะอาด และมีชีวิตที่สดใสร่าเริงไปได้นานที่สุดครับ
และจากโพสต์นี้หลายคนเข้าไปส่งกำลังใจให้คุณหมอต่อสู้กับโรคที่เป็นอยู่ด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :