ในปี ค.ศ. 2015 เมื่อยานอวกาศ "นิว ฮอไรซันส์" (New Horizons) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) ได้เดินทางไปเยือนดาวเคราะห์แคระพลูโต กับดวงจันทร์แครอน (Charon) ดาวบริวารดวงเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 5,900 ล้านกิโลเมตร และมีขนาดพื้นผิวพอ ๆ กับทวีปออสเตรเลียเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตามโมเดลจำลองในคอมพิวเตอร์จากข้อมูลเก่าเมื่อ 8 ปีที่แล้วก็กลับเปิดเผยว่า ดวงจันทร์แครอนอาจมีมหาสมุทรที่อยู่ภายใต้เปลือกน้ำแข็งยาวนานหลายล้านปีในอดีต ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาสักช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก่อนที่มหาสมุทรนี้จะค่อย ๆ แข็งตัวลงอย่างช้า ๆ ตามพลังงานความร้อนของแกนกลางที่ค่อย ๆ หมดลง จนกลายสภาพเป็นก้อนน้ำแข็งอย่างในปัจจุบันในที่สุด
โดยหลักฐานที่เข้ามาสนับสนุนโมเดลจำลองนี้ ก็คือหุบเขาขนาดยักษ์ลักษณะคล้ายรอยแตกบนเปลือกน้ำแข็ง บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์แครอน และภูเขาไฟน้ำที่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นผิว ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่าลักษณะทางธรณีวิทยาเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมหาสมุทรเริ่มแข็งตัวลง และความดันก็เริ่มสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายกับการที่ขวดน้ำพลาสติกเริ่มขยายตัวขึ้นขณะที่อยู่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นเป็นเวลานาน
หลังจากนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งเปลือกของดวงจันทร์แครอนก็ไม่สามารถทนต่อแรงดันมหาศาลที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป และเริ่มแตกตัวออกอย่างรุนแรงจนกลายเป็นหุบเขา และน้ำจากมหาสมุทรที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ถูกดันขึ้นมาจากภายในดาวกลายเป็นภูเขาไฟน้ำบนพื้นผิวที่ยานอวกาศนิว ฮอไรซันส์เคยสังเกตได้ในที่สุด
ถึงกระนั้น ผลการคำนวณทางคณิตศาสตร์บางโมเดลก็ยังคงบอกใบ้ว่า หุบเขาที่มีลักษณะคล้ายรอยแตกบนดวงจันทร์แครอนนั้น ก็อาจไม่ได้เกิดจากการที่มหาสมุทรใต้พื้นผิวแข็งตัวลงแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเปลือกน้ำแข็งนั้นอาจมีความหนากว่าที่นักดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 6 - 10 กิโลเมตรก็ได้ ซึ่งกว่าที่นักดาราศาสตร์จะยืนยันเรื่องราวในอดีตของดวงจันทร์แครอนได้นั้น ก็คงต้องรอภารกิจสำรวจดาวเคราะห์แคระพลูโตครั้งถัดไปในอนาคต
ที่มาข้อมูล: SPACE.COM , PHYS.ORG
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech