นักวิจัยได้ค้นพบวิธีการส่งยาแบบเฉพาะเจาะจงด้วย “แบคทีเรีย” สู่เซลล์ โดยจะใช้รูปร่างโดยธรรมชาติของแบคทีเรียที่มีส่วนคล้ายกับโครงสร้างของเข็มฉีดยา
นักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology - MIT) กล่าวว่า วิธีการรักษารูปแบบนี้ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าการรับประทานยาทางปาก หรือการฉีดยาเข้าสู่กระแสเลือด
การใช้แบคทีเรียในการโอนถ่ายโปรตีนไปสู่เซลล์นั้น ถูกเรียกว่า "PVCs" (Photorhabdus virulence cassettes) โดยแบคทีเรียที่ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยนี้คือแบคทีเรีย "เอนโดซิมไบโอติก" (Endosymbiotic bacteria) เป็นส่วนใหญ่ และแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่ขึ้นอยู่กับเซลล์ตั้งต้นของมนุษย์เพื่อให้แบคทีเรียนั้นสามารถอาศัยอยู่ได้
ในการทดลองขั้นต้น นักวิจัยได้ทดลองใช้วิธีนี้กับหนูทดลองก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่การที่จะจ่ายยาเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนกว่าหนูได้นั้น นักวิจัยก็ต้องสร้างโครงสร้างจำลองของแบคทีเรียเพื่อศึกษาการรวมกันกับเซลล์ของมนุษย์เสียก่อน โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่มีชื่อว่า "อัลฟาโฟลด์" (Alphafold AI) เป็นผู้ช่วยสำคัญในการจำลองรูปร่างของโปรตีนและแบคทีเรียเป็นภาพสามมิติขึ้นมา เพื่อให้นักวิจัยได้ศึกษาและทำความเข้าใจกับแบคทีเรียมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนนำไปสู่การดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรียสามารถขนส่งยาได้
อีกหนึ่งในจุดประสงค์ที่สำคัญของโครงการนี้นอกเหนือจากการพัฒนาการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม ก็คือการค้นหาวิธีที่จะใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยการใช้แบคทีเรีย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกนำมาใช้จริงภายในอนาคตร่วมกันวิธีอื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นนักวิทย์ก็ยังจำเป็นที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก่อน เพื่อความปลอดภัยและติดตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มาข้อมูล: The Scientist
ที่มาภาพ: MIT , eLIFE
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech