สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินค่าไฟหลังผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. โดยนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สนพ. เชื่อว่าหลังจากนี้ค่าไฟจะทยอยลดลง หลังปริมาณก๊าซอ่าวไทยเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ส.ค. และปลายปี 2566 จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับราคาแอลเอ็นจีนำเข้าถูกลง จะนำไปลดค่าเอฟทีงวดถัดไป สำหรับเดือน ก.ย. - ธ.ค.นี้ อาจมีโอกาสเห็นค่าไฟเฉลี่ยเรียกเก็บกับประชาชนลงมาอยู่ที่ระดับ 4.30-4.40 บาทต่อหน่วยได้
ผอ.สนพ. กล่าวว่า นอกเหนือจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของก๊าซในอ่าวไทยจะทำให้ค่าไฟราคาถูกลงแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากราคาก๊าซธรรมชาติจากตลาดจร (แอลเอ็นจีสปอต) ลดลงเช่นเดียวกัน จากงวดก่อนที่อยู่ประมาณ 24 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ลงมาอยู่ที่ 14.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ยังมีปัญหา เพราะในขณะนั้นที่ตั้งเกณฑ์ขึ้นมากำหนดให้มีการต่อสัญญาอัตโนมัติทุก 5 ปี จากระยะสัญญาตั้งต้น 10 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่แพง ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็ยังระบุว่าไม่สามารถลดอัตราซื้อขายได้ เพราะมีสัญญากำหนดไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัท มหาชน (จำกัด) ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอัตราที่บวกไปกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายที่ 0.1384 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 2.90% จากต้นทุนที่มาจากนโยบายของรัฐ
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นเป็นเรื่องของต้นทุนเชื้อเพลิง เนื่องจาก 50-60% ของการคิดค่าไฟมาจากเชื้อเพลิง ที่เหลือเป็นต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า และต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย เป็นต้น จึงไม่เกี่ยวกับการสำรองไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งหากดูข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเห็นว่าประเทศไทยยังมีสำรองไฟฟ้าไม่สูงมากนัก
ผอ.สนพ. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในอนาคตหากมีพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นจะต้องมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย และราคาอาจแพงขึ้น เนื่องจากต้องพัฒนาระบบการกักเก็บพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่จะขายไฟฟ้ากลับมาเข้าระบบ ซึ่งจะต้องบริหารระบบไว้อย่างดี
อ่านข่าวอื่นๆ
"ส่งอีกรอบ" นายกฯ ขอ กกต. อนุมัติงบกลางฯ เร่งช่วยค่าไฟงวด พ.ค.นี้
การไฟฟ้าจัด "ล้างแอร์ช่วยชาติ" ช่วยจ่ายครึ่งราคา 10,000 สิทธิ เริ่ม 1 พ.ค.นี้