วันนี้ (5 ก.ค.66) เมื่อเวลา 17.30 น.ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับไทยพีบีเอส ภายหลังทราบมติ ครม.ที่รับทราบข้อเสนอของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับเรื่องหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ ครม. ยังไม่ตัดสินใจ โดยมอบให้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ ตัดสินใจ
นายชัชชาติ ระบุว่า เรื่องดังกล่าว กทม.แจ้งขอความชัดเจนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว การที่ ครม.มีมติออกมาวันนี้ รับทราบตามที่ กทม.เสนอ แต่ไม่ได้ตัดสินใจนั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ต้องรอรัฐบาลใหม่ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
กทม.ต้องการขอให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการช่วงหมอชิต- สะพานใหม่- คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ เหมือนที่รัฐบาลลงทุนในโครงการอื่น ๆ
ส่วนของ กทม.ก็ต้องดำเนินการประเด็นที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดไปก่อน ระหว่างรอรัฐบาลใหม่ รวมถึง ที่ผ่านมา สภา กทม.ได้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญฯพิจารณาประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาแล้ว
อย่างน้อยวันนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความชัดเจนขึ้นอีกหน่อยตรงที่ รัฐบาลรับทราบ ก็ชัดเจนว่า ต้องรอรัฐบาลใหม่ ตัดสินใจ ซึ่ง กทม.เราก็ชัดเจนเหมือนกันว่า ต้องรอรัฐบาลตัดสินใจ เป็นเรื่องที่เราคาดการณ์ไว้แล้ว
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจเพราะเข้าใจว่า มีปัญหาผูกพันเรื่องหนี้บีทีเอส ที่ต้องเกี่ยวข้องกับงบประมาณผูกพันจึงทำไม่ได้
ประเด็นหลัก เรายังยืนยันคือ การที่ กทม.ไม่ได้จ่ายหนี้ให้บีทีเอส เนื่องจากมีผลผูกพันมาจาก ม.44 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เงื่อนไขที่ไปกำหนดว่า สัมปทานผูกพันกับการขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี ที่จะสื้นสุดปี 2572 ซึ่ง กทม.ต้องการความชัดเจนว่า จะยุติ หรือ ยกเลิก ม.44 ได้หรือไม่
นอกจากนี้ กทม.ต้องการขอรัฐบาลพิจารณาเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการช่วงหมอชิต- สะพานใหม่- คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ เหมือนที่รัฐบาลลงทุนในโครงการอื่น ๆ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง และดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด โดยปัจจุบัน กทม.มีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ ทั้งสิ้น 78,830 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ ณ วันที่ 13 มี.ค.2566
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ชัชชาติ" รอคำตอบ ครม.เคาะความชัดเจนสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว
ครม.ยังไม่พิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
บทวิเคราะห์ : โจทย์ยาก “ชัชชาติ” รถไฟฟ้าสายสีเขียว