วันนี้ (10 ก.ค.2566) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบความพร้อมก่อนทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี จากสถานีมีนบุรี (PK30) - สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ในอนาคต บริเวณสถานีมีนบุรี
นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบความพร้อมก่อนทดสอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เป็นโครงการฯ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)
นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบความพร้อมก่อนทดสอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2560 รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.2561 เป็นต้นมา รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมของงานระบบรถไฟฟ้า
นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบความพร้อมก่อนทดสอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี
ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ได้ช่วงปลายปี 2566 โดยพิจารณาดำเนินการตามความพร้อมของแต่ละสถานีจนครบ 30 สถานี โดยยึดถือหลักความพร้อมของงานและความปลอดภัยต่อประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการในระบบรถไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด ทั้งนี้ ตามแผนงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือน มิ.ย. 2567
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี
รถไฟฟ้าสายสีชมพู 30 สถานี ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ นับเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และ จ.นนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้โดยสะดวก โดยโครงการฯ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี ประกอบด้วย
- สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
- สถานีแคราย
- สถานีสนามบินน้ำ
- สถานีสามัคคี
- สถานีกรมชลประทาน
- สถานีแยกปากเกร็ด
- สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
- สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
- สถานีศรีรัช
- สถานีเมืองทองธานี
- สถานีแจ้งวัฒนะ 14
- สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
- สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ
- สถานีหลักสี่
- สถานีราชภัฏพระนคร
- สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
- สถานีรามอินทรา 3
- สถานีลาดปลาเค้า
- สถานีรามอินทรา กม.4
- สถานีมัยลาภ
- สถานีวัชรพล
- สถานีรามอินทรา กม.6
- สถานีคู้บอน
- สถานีรามอินทรา กม.9
- สถานีวงแหวนรามอินทรา
- สถานีนพรัตน์
- สถานีบางชัน
- สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
- สถานีตลาดมีนบุรี
- สถานีมีนบุรี
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี
โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต ที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี นั้น มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :