วันนี้ (14 ก.ค.2566) International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านวัตถุเจือปนอาหาร (JECFA) เผยแพร่ผลการประเมินอันตรายและความเสี่ยงของสารให้ความหวาน จัดให้ "แอสปาร์แตม" ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล และใช้กันมากในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลมให้เป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม "เป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็ง" ในมนุษย์ (IARC Group 2B) บนพื้นฐานของหลักฐานที่จำกัด
JECFA ยังไม่เปลี่ยนแปลงข้อมูลก่อนหน้านี้ ที่กำหนดปริมาณที่ยอมรับได้ต่อวัน (ADI) การรับประทานแอสปาร์แทมไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว คณะกรรมการฯ จึงยืนยันได้ว่า ยังคงมีปลอดภัยสำหรับคนที่จะบริโภคตามปริมาณที่กำหนดนี้ เช่น กระป๋องน้ำอัดลมที่มี แอสปาร์แตม 200 หรือ 300 มก. ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 70 กก. จะต้องกินมากกว่า 9-14 กระป๋องต่อวัน เพื่อให้เกินปริมาณที่รับได้ในแต่ละวัน โดยไม่ต้องกินอย่างอื่นจากแหล่งอาหารอื่น ๆ
สารให้ความหวาน
สำหรับ แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานเทียม ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ได้แก่ เครื่องดื่มลดน้ำหนัก หมากฝรั่ง เจลาติน ไอศครีม ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต อาหารเช้าซีเรียล ยาสีฟัน และยา เช่น ยาแก้ไอและวิตามินแบบเคี้ยว
ดร.ฟรานเชสโก บรันกา ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร องค์การอนามัยโลก ระบุว่า มะเร็งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก ทุกปี 1 ใน 6 คนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และกำลังขยายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อประเมินปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดมะเร็ง รวมถึงลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง
การประเมินผลกระทบของสารให้ความหวาน บ่งชี้ว่า เรื่องความปลอดภัยไม่ได้ข้อกังวลเกี่ยวกับขนาดที่ใช้กันทั่วไป แต่สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ และศึกษาเพิ่มอีก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 WHO ออกข้อแนะนำ ห้ามใช้สารให้ความหวานที่ไม่ใช่น้ำตาลเพื่อควบคุมน้ำหนัก
ตู้แช่น้ำอัดลมในร้านสะดวกซื้อ
รศ.ทญ.ดร.อรนาฎ มาตังคสมบัติ และ ผศ.ทญ.ดร.พนิดา ธัญญศรีสังข์ จากภาควิชาจุลชีววิทยา และหน่วยปฏิบัติการวิจัยจุลชีววิทยาช่องปากและวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกบทความเพื่อรวบรวมการศึกษาในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับผลต่อสุขภาพของการบริโภควัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลประจำ ทั้งในแง่ผลต่อสุขภาพร่างกาย และต่อสุขภาพช่องปาก
แอสปาร์แตม อยู่ในกลุ่มที่วัตถุให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้พลังงานเท่ากับกรดอะมิโน แต่เนื่องจากแอสปาร์แตมให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200 เท่า จึงใช้ปริมาณน้อยมาก ทำให้พลังงานที่ได้รับน้อยมากไปด้วย
ห่อขนมในร้านสะดวกซื้อ
แอสปาร์แตมไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคฟินิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria, PKU) เพราะผู้ป่วยไม่สามารถสลายฟีนิลอะลานีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแอสปาร์แทมได้ ดังนั้นอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมแอสปาร์แตมจึงต้องมีคำเตือนสำหรับผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรียบนฉลากเสมอ
ทั้งนี้ การบริโภควัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างแพร่หลายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของสารทดแทนน้ำตาล และที่ผสมในอาหารและเครื่องดื่ม โดยมักมีการส่งเสริมการขายอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ว่า เป็น "อาหารเพื่อสุขภาพ" ทำให้ผู้บริโภคมักเข้าใจว่า การใช้สารเหล่านี้จะช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลได้อย่างสมบูรณ์
น้ำอัดลม
แต่หลักฐานการวิจัยในสัตว์ทดลอง และการศึกษาในมนุษย์แบบสังเกตการณ์หลายการศึกษา แสดงให้เห็นว่า การบริโภควัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงานเป็นประจำ ในระยะยาวอาจสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด และโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการให้คำแนะนำในการบริโภควัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงการเกิดโรคเหล่านี้
ถึงแม้ว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลจะได้รับการรับรองว่า มีความปลอดภัยที่จะบริโภคได้ในปริมาณที่กำหนด อาจมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมน้ำหนักโดยต้องสามารถลดปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคประจำวัน และผลต่อความเสี่ยงการเกิดโรคในระยะยาวยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด และยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาถึงผลของการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดต่าง ๆ ในระยะยาวต่อสุขภาพ