สนามบินนับเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่สะท้อนการเจริญเติบโตของประเทศหรือเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือไม่ว่าจะเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ การสร้างสนามบินจำเป็นต้องใช้พื้นที่ราบและกว้าง สำหรับใช้เป็นทางขึ้นลงของอากาศยาน หลุมจอด อาคารผู้โดยสาร และโครงสร้างจำเป็นอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกลักษณะภูมิประเทศจะเอื้ออำนวยต่อการสร้างสนามบิน “ญี่ปุ่น” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาด้านพื้นที่ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และการเจริญเติบโตของเมืองในแนวราบที่ทำให้เกิดพื้นที่เมือง (Metropolitan Area) ขนาดใหญ่ เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างสนามบิน นำมาสู่การสร้างสนามบินกลางทะเลบนเกาะที่ถูกสร้างขึ้น (Artifical Island)
ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสนามบินตั้งอยู่กลางทะเลมากที่สุดในโลก มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานคันไซ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นจากการถมทะเล ท่าอากาศยานชูบุเซ็นแทรร์ ท่าอากาศยานโกเบ ท่าอากาศยานคิตะคิวชู ท่าอากาศยานนางาซากิ รวมถึงบางส่วนของท่าอากาศยานฮาเนดะ ซึ่งถูกสร้างเพิ่มเติมลงไปในทะเลเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจสร้างสนามบินกลางทะเลแทนที่จะปรับผิวหน้าของภูมิประเทศ ได้แก่
1. ข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ
ไม่ใช่แค่เพียงการหาที่ราบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริเวณโดยรอบซึ่งต้องไม่มีภูเขาหรือเนินเขาที่บดบังเส้นทางการร่อนลงหรือบินขึ้นของอากาศยาน แม้หาที่ราบได้แต่หากมีข้อจำกัดโดยรอบก็อาจส่งผลต่อปริมาณของเที่ยวบิน หรือความปลอดภัยของสนามบิน การสร้างสนามบินกลางทะเลซึ่งไม่มีภูเขามาบดบังจึงช่วยแก้ปัญหาข้อนี้ได้
2. เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่ของสนามบิน
สนามบินที่ถูกสร้างขึ้นมาบนแผ่นดินเดิมทีอาจอยู่ในบริเวณที่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวเมืองกลับขยายตัวไปจนถึงเขตของสนามบิน ทำให้สนามบินไม่สามารถสร้างส่วนต่อขยายได้ นี่เป็นปัญหาที่สนามบินใหญ่ทั่วโลกต่างต้องพบเจอ เช่น ท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ ที่ประสบปัญหาในการต่อขยายเนื่องจากตัวเมืองเขยิบมาจนถึงพื้นที่ของสนามบิน แต่ท่าอากาศยานานาชาติคันไซ ในโอซากา กลับสามารถสร้างส่วนต่อขยายได้ทันทีด้วยการถมพื้นที่ต่อไปในทะเลเพิ่มเติม
3. ลดเสียงรบกวนที่เกิดจากอากาศยานร่อนลง
สนามบินบางแห่งเมื่อตั้งอยู่ในเขตเมืองมีกฎข้อบังคับว่าด้วยเสียงรบกวนในยามค่ำคืน ทำให้ต้องลดจำนวนเที่ยวบินในช่วงเวลากลางคืนลง ส่งผลต่อทั้งรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจโดยรวม อากาศยานกลางทะเลไม่มีข้อจำกัดด้านเสียง จึงทำให้มีอากาศยานขึ้นลงได้ตลอดเวลา
ด้วยข้อมูลนี้เราจึงอาจมองได้ว่าแนวทางการสร้างสนามบินในทะเล เป็นสิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นเห็นว่าช่วยแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ รวมถึงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเองก็เคยมีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวนาท้องถิ่นที่ต่อต้านการก่อสร้างท่าอากาศยานนาริตะ จนเกิดเหตุนองเลือดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ปีค.ศ. 1966 โดยที่การประท้วงก็ยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อชาวนาท้องถิ่นปฏิเสธการเวนคืนที่จากภาครัฐ ดังนั้นการสร้างสนามบินบนพื้นที่ที่ไม่ต้องเวนคืนจึงเป็นการลดโอกาสความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ประเทศสิงคโปร์ และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ก็มีการถมทะเลเพื่อสร้างหรือต่อเติมสนามบินเช่นกัน สนามบินนานาชาติเช็กแลปก็อกของฮ่องกงตั้งอยู่บนเกาะที่ถูกถมขึ้นมาเป็นพื้นที่กว่าสามตารางกิโลเมตร และปัจจุบันยังมีโครงการขยายพื้นที่ด้วยการถมพื้นที่เพิ่มเติม ในขณะที่สิงคโปร์ แม้สนามบินชางงี จะถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นที่ริมชายฝั่ง แต่เมื่อการเติบโตของเที่ยวบินระหว่างประเทศสูงขึ้น ทำให้สิงคโปร์ตัดสินใจถมทะเลเพิ่มเพื่อสร้างส่วนต่อขยายของสนามบินชางงี เช่นกัน
กรณีศึกษาเหล่านี้จึงน่าสนใจสำหรับการแก้ไขปัญหาของการสร้างสนามบินบนแผ่นดิน และแม้ต้องแลกมาด้วยกับราคาที่สูงและความท้าทายทางด้านวิศวกรรมที่มากกว่า แต่ประเทศญี่ปุ่นและอื่น ๆ ก็มองเห็นความคุ้มค่าในการลงทุน เพื่อความยั่งยืนของโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางทางอากาศ
ที่มาข้อมูล: simpleflying
ที่มาภาพ: Ankou1192
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech