เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา TIJ-UNODC Public Forum: People-centered Justice Solutions โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเวทีสาธารณะนำเสนอโครงการส่งเสริมความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อระดมความคิดและพัฒนาเป็นข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อหาแนวทางอำนวยความยุติธรรมให้สังคมไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อเสนอ
“โมเดลบะหมี่ถ้วย” แก้ปัญหาหลอกให้โอนเงิน
ภายในเวลาไม่ถึง 1 วัน หลังจากไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้คนละ 1 หมื่นบาท มีคนจำนวนไม่น้อยได้รับข้อความส่งตรงมายังโทรศัพท์มือถือให้ติดตั้ง “แอปพลิเคชันปลอม” หลอกดูดเงินทันที นั่นคือ “ความเร็วของคนร้าย” ที่ทำให้เห็นได้ว่า อาชญากรรมในลักษณะนี้ต้องการ “เทคโนโลยี” และ “ความเร็ว” ในการเข้าขัดขวางกระบวนการหลอกลวงนี้
หากมอง “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” จะพบว่า สิ่งที่ “เหยื่อ” จากแก๊งหลอกให้โอนเงิน มีความต้องการได้รับความช่วยเหลือจากกลไกของรัฐมากที่สุด ก็คือ ได้เงินคืน หรือ การหยุดยั้งเส้นทางของเงินที่ถูกโอนออกไปผ่านบัญชีม้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว มากกว่า การจับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของตำรวจ ดังนั้น การแก้ปัญหาหลอกให้โอนเงิน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ด้วยตำรวจเท่านั้น
เมื่อประชาชนประสบปัญหาถูกหลอกให้โอนเงินผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการกดลิงค์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน พวกเขามักจะต้องเผชิญกับความลำบากในการติดตามเงินของตนเองให้ได้คืน ตั้งแต่ขั้นตอนการอายัดบัญชีธนาคารที่อาจจะมีหลายบัญชีและต้องใช้เวลาในการติดต่อธนาคารแต่ละแห่งด้วยหมายเลขที่แตกต่างกันของแต่ละธนาคาร
จากนั้นยังใช้เวลาอีกมากไปกับการพยายามแจ้งความ และอาจจะต้องเสียเวลาไปอีกทั้งวันกับกระบวนการทั้งหมด ซึ่งทำให้ “เงินในบัญชี” หลุดลอยออกจากบัญชีไปหมดแล้ว โดยผ่านบัญชีม้าอีกนับสิบบัญชี
แม้แต่ในฝั่งของธนาคาร เมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้วอาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อยืนยันในการอายัดบัญชี และต้องเขียนอีเมลเพื่อแจ้งไปยังธนาคารอื่นๆ เพื่อให้ติดตามเส้นทางของเงินที่ถูกโอนออกไป จากนั้นตำรวจจึงจะมีอำนาจเข้ามาช่วยขอขยายระยะเวลาการอายัดบัญชีจากเดิม 72 ชั่วโมงเป็น 7 วัน หลังได้รับการยืนยันจากธนาคาร ยังต้องติดต่อผู้ให้บริการ SMS ที่ส่งมาหลอกลวง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อระงับเว็บไซต์ หรือหา IP Address ก่อนออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีผู้รับเงินมาสอบสวน
จึงเป็น “เกม” ที่ผู้เสียหายก็พ่ายแพ้ตั้งแต่การแข่งขันยังไม่เริ่มขึ้น เพราะมันเป็นเกมที่ใช้ “ความเร็ว” เป็นเครื่องมือในการหาผู้ชนะ
รัฐก็มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงออกพ.ร.ก.มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2565 มาใช้แก้ปัญหาแต่หากดูตัวเลขความเสียหายจากคดีออนไลน์ที่เกิดขึ้นหลังมีพ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาแล้วเป็นเวลารวม 15 เดือน
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 12 สิงหาคม 2566 จะพบว่า ยังมีประชาชนถูกหลอกให้โอนเงินมากถึง 310,000 คดี คิดเป็นความเสียหายรวมมูลค่า 42,000 ล้านบาท เพราะยังคงมีปัญหาที่ไม่สามารถบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนให้มารวมเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการได้
ไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้เสียหายคือ “ได้เงินคืนเร็ว แจ้งเหตุได้ไว อายัดบัญชีม้าได้ทันใจ และติดตามเองได้ real-time”จึงมีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการหลอกให้โอนเงินผ่านทางออนไลน์ ด้วยโมเดล “บะหมี่ถ้วย” ซึ่งจะแก้ปัญหาด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1. ใช้หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุแบบรวมศูนย์ด้วยหมายเลขเดียว 2. อายัดบัญชีก่อน ถามทีหลัง ให้ข้อมูลเพียงครั้งเดียวไม่ต้องถามซ้ำ เพื่อการประหยัดเวลา และ 3. มีช่องทางให้ติดตามบัญชีได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่แล้วของรัฐที่เชื่อถือได้ เช่น แอป ThaiD และแอป ทางรัฐ
จาก 3 ขั้นตอนที่ว่ามานั้น พบว่ามีความท้าทายในการจะดำเนินการได้ยากที่สุด คือ ข้อที่ 2 เพราะจำเป็นต้องมีการตั้งศูนย์การปราบปรามอาชญากรรมการหลอกโอนเงิน เช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในมาเลเซียหรือสิงคโปร์
จึงมีข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานกลางที่เรียกว่า Anti-Fraud Center (AFC) ที่ทุกธนาคารมีตัวแทนเจ้าหน้าที่เข้ามานั่งทำงานรับเรื่องจากผู้สียหายพร้อมกันในสำนักงานเดียวกัน
หากสามารถตั้งขึ้นได้ก็มีโอกาสที่โมเดลนี้จะประสบความสำเร็จ ในขณะที่ส่วนของการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดด้านการหลอกโอนเงินนั้น ทางสมาคมธนาคารไทยกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตั้ง Central Fraud Registry คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้
โมเดล TOR ส่งต่อต้นแบบป้องผู้ต้องขังจิตเวชทำผิดซ้ำ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยจิตเวชได้ก่อเหตุรุนแรงอยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยสถิติจากกรมสุขภาพจิต เปิดเผยไว้ว่า มีผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรงถึง 3,815 คน และในจำนวนนั้น 510 คน เป็นผู้ที่กระทำผิดซ้ำ หรือ เป็นคนที่เคยผ่านการถูกลงโทษในเรือนจำมาก่อนแล้ว ทั้งที่ตอนที่อยู่ในเรือนจำ พวกเขาไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เพื่อลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำจากอดีตผู้ต้องขังจิตเวช จากการศึกษาพบว่า ขณะที่ผู้ต้องขังจิตเวชอยู่ในความดูแลของเรือนจำ จะได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด คือ “การกินยาควบคุมอาการต่อหน้า และต่อเนื่อง” แต่เมื่อพ้นโทษออกมา จะมีผู้ต้องขังกลุ่มที่กลับมาอยู่กับครอบครัว แต่ครอบครัวไม่มีศักยภาพในการดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ไม่ได้รับยาอย่างถูกต้อง ทำให้อาการจิตเวชกลับมา
“อ.เก้าเลี้ยว” จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาใช้ประกอบการศึกษาในประเด็นนี้ เพราะสามารถบริหารจัดการผู้ป่วยจิตเวชได้เป็นอย่างดี ผ่านกระบวนการสร้างความร่วมมือจากชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จนถูกเรียกว่า “เครือข่ายเก้าเลี้ยว” พัฒนาจนเป็นเก้าเลี้ยวโมเดล ซึ่งทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกับรัฐในการดูแลคนของตนเอง โดยมีรัฐเป็นหน่วยงานที่ประคับประคองให้โมเดลนี้เดินหน้าต่อไปได้
ส่วนสำคัญของโมเดลประกอบด้วยกลุ่มที่เรียกว่า 5 กัลยาณมิตร คือ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ญาติผู้ป่วย และกลุ่มขวัญใจ หรือ คนที่ผู้ป่วยไว้ใจ โดยดำเนินงานตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนให้ครบทุกคนผ่านกลไกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ชุมชน สาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชน กลางน้ำ ให้สถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานบำบัด ช่วยบำบัดผู้ป่วยจิตเวช และปลายน้ำ คือ การฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช ผ่านเครือข่ายทั้ง 5 กัลยาณมิตร
เป้าหมาย คือ ทำให้ผู้ป่วยจิตเวช ต้องมี “การกินยาต่อหน้าและต่อเนื่อง” เช่นเดียวกับที่เคยทำได้ในเรือนจำ
จากความสำเร็จของ “เก้าเลี้ยวโมเดล” เวทีสาธารณะ จึงนำเสนอแนวทางการสานต่อโมเดลนี้ให้ถูกนำไปใช้กับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยหลัก TOR ประกอบด้วย Technology, Organized และ Relations ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ป่วยจิตเวช ใช้นวัตกรรมมาจัดการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างจริงจัง และสานความสัมพันธ์ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำของอดีตผู้ต้องขังจิตเวชได้จริง
สานรักษ์โมเดล: พลังชุมชนและนวัตกรรมลดทำผิดซ้ำผู้ติดยาเสพติด
ข้อมูลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำของไทยในเดือนสิงหาคม ปี 2566 มีผู้ต้องขังเด็ดขาด หรือ คนที่ถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง ทั้งหมด 212,640 คน จำนวนนี้ มีถึงร้อยละ 78 ที่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และจากสถิติที่ผ่านมา ในทุกๆ 3 ปี ผู้พ้นโทษจากคดียาเสพติดราวร้อยละ 30 ปี จะถูกส่งกลับมาที่เรือนจำอีก เพราะแม้ว่าพวกเขาจะพ้นโทษออกมาแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายที่จะกลับคืนสู่สังคม ตั้งแต่การมีประวัติอาชญากรรม บางส่วนไม่มีครอบครัวดูแล ไม่สามารถหางานสุจริตทำได้เพราะไม่มีใครรับเข้าทำงาน จนต้องขาดปัจจัยสี่ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ จึงกลับไปหารายได้จากขบวนการยาเสพติด และหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำในที่สุด
“โมเดลบ้านกึ่งวิถี” คือ สถานที่ที่เปิดรับให้ผู้พ้นโทษเข้ามาพักอาศัย มีที่พักให้ มีระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ช่วยฝึกอาชีพ รวมถึงเปิดทางให้ประกอบอาชีพที่ทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้จริง เป็นแนวทางที่ถูกนำมาขยายผลในการศึกษานี้
SANRAK Model คือข้อเสนอใหม่ที่จะแก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังจากคดียาเสพติด โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ การสร้างระบบป้องกัน การบำบัด และการฟื้นฟู
1. ระบบป้องกันการเข้าถึงยาเสพติดเชิงรุก โดยนำเทคโนโลยี เช่น AI Monitoring มาเสริมการตรวจจับการเข้าถึงยาเสพติดทางออนไลน์ เช่นการนำระบบ Social Listening Platform มาใช้ โดยยกตัวอย่างการค้นหาคำว่า “ตู้เย็น” จะพบว่า เป็นศัพท์ที่ใช้ในการซื้อขายยาเสพติด และสามารถค้นหาว่าใครเป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อได้
2. การบำบัดยาเสพติดด้วยเข็มขนาดเล็กมากที่เรียกว่า Microneedle ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อให้ยาเข้าสู่ร่างกายได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ถูกเสนอให้นำมาใช้ร่วมกับวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ กระบวนการลดอันตรายจากการใช้ยา (Harm Reduction) ซึ่งปัจจุบันจะใช้สาร “เมทาโดน” ในปริมาณ 3.5-10 มิลลิกรัมช่วยบำบัดอยู่ แต่ก็ยังมีโอกาสทำให้ผู้รับสารเปลี่ยนไปเสพติดเมทาโดนแทน ต้องไปรับยาจากแพทย์เท่านั้น รวมทั้งยังมีข้อจำกัดว่าไม่สามารถใช้ได้กับคนที่โรคประจำตัวบางโรค
3. จัดตั้งบ้านกึ่งวิถีประจำจังหวัดหรือชุมชน ในชื่อ “บ้านสานรักษ์” โดยเสนอในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม มีรูปแบบการหารายได้เพื่อคืนทุนและเลี้ยงดูตัวเองได้ในระยะยาว คือ ผู้ที่เข้ามารับบริการจะต้องส่งคืนให้ประโยชน์ให้บ้านสานรักษ์ ด้วยการฝึกอาชีพแบบ on the job training สร้างอาชีพตามภูมิสังคม เช่น ช่างซ่อมต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้รับการฟื้นฟูสามารถมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชนได้ มีผู้มีส่วนได้เสียสำคัญคือ ผู้ติดยา ภาครัฐ ภาคเอกชน ครอบครัว ชุมชน
บ้านสานรักษ์ ซึ่งพัฒนามาจากบ้านกึ่งวิถี เป็นสถานฟื้นฟูให้ผู้พ้นโทษจากคดียาเสพติดสามารถกลับคืนสู่สังคมได้จริง เลี้ยงดูตัวเองได้ จากการศึกษาโมเดลนี้ จะระดมทุนให้บ้านสานรักษ์แต่ละแห่งต้องการใช้เงินทุนตั้งต้นเพียง 6 ล้านบาท และจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 8.5 ปี หากรองรับผู้เข้าพักที่ 30 คน โดยมีรายได้หลักจากจำหน่ายสินค้าและบริการ และอาจขยายผลได้ด้วยการรับบริจาคหรือทำ Crowdfunding