ทันทีที่สวมใส่ผู้รับการฝึกก็จะเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง โจทย์ที่ได้รับ คือ การให้อาหารทางสายยางแก่ผู้สูงอายุติดเตียง ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีคำถามให้เลือกวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เช่น การเลือกอุปกรณ์การให้อาหารทางสายยาง การจัดท่าทางให้ผู้สูงอายุ การเริ่มให้อาหารทางสายยาง และวิธีการแก้ไขปัญหาหากผู้สูงอายุ มีลมในกระเพาะอาหาร หรือ เกิดอาการสำลัก ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาคำนวณเป็นคะแนนเพื่อประเมินผลการฝึก
ระบบฝึกทักษะ VR Care Giver Training ได้รับการพัฒนาโดย ดร.กรด เหล็กสมบูรณ์ นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ทีมนักวิจัย เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งเสริมให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุติดเตียงมีทักษะความรู้ หรือได้ทบทวนทักษะความรู้การดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Reality) จำนวน 5 สถานการณ์
ได้แก่ การให้อาหารทางสายยาง การดูแลผู้สูงอายุที่คาสายสวนปัสสาวะ การให้ออกซิเจน การดูแลป้องกันแผลกดทับ และการดูแลป้องกันกล้ามเนื้อลีบข้อติดแข็ง หรือ การทำกายภาพบำบัด
ดร.กรด เหล็กสมบูรณ์ นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เล่าว่า "VR Care Giver Training" ช่วยให้ผู้รับการฝึกทักษะสามารถการเรียนรู้การดูแลผู้สูงอายุติดเตียงในสถานการณ์ต่างๆโดยไม่ต้องสัมผัสกับตัวผู้ป่วย จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการใกล้ชิด และความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบกับผู้ป่วย รวมทั้งยังสามารถสร้างสถานการณ์อื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย
เรามีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันมากขึ้น เช่น โปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน ความดัน หรือ โรคหัวใจ ซึ่งการดูแลต้องมีความแตกต่าง และ มีความซับซ้อนมากขึ้น
ศุภาวีย์ มีทองคำ พยาบาลวิชาชีพ ศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และ ผู้พิการ ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ ผู้รับการฝึกทักษะด้วย "VR Care Giver Training" บอกว่า การดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง เรามักจะพบปัญหาผู้ดูแลมีทักษะไม่ถูกต้องจนส่งผลกระทบกับผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือ มีภาวะสมองเสื่อม ต้องใส่สายให้อาหารทางจมูก หากผู้ดูแลให้อาหารไม่ถูกวิธีก็มักจะเกิดการเลื่อนหลุด อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดการสำลักอาหาร จนปอดอักเสบติดเชื้อ
หรือ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือให้พลิกตะแคงตัว และ นอนอยู่ในท่าเดิมนานๆ ก็จะทำให้มีแผลกดทับ และ หากยิ่งดูแลไม่ดี ทำแผลไม่ถูก ก็อาจจะทำให้แผลกดทับมันรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดได้
VR Care Giver Training ช่วยทบทวนความรู้ของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล หรือ นักกายภาพบำบัด รวมถึงนักบริบาลชุมชน ได้รู้ถึงขั้นตอนที่ถูกต้อง เป็นการเตือนตัวเองว่าหากเข้าไปดูแลผู้ป่วยจริงๆ เราควรจะระมัดระวังในจุดไหนเป็นพิเศษ
นอกจากระบบฝึกทักษะการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงแบบเสมือนจริงจะใช้งานผ่านอุปกรณ์ VR Headsetแล้ว ยังสามารถใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ Smartphone ระบบ Android ได้อีกด้วย จึงประโยชน์อย่างมากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ นักบริบาลชุมชน รวมทั้ง ญาติผู้สูงอายุ และ ผู้ป่วยติดเตียง ให้สามารถฝึก และ ทบทวนทักษะที่ถูกต้องได้เป็นอย่างดี
อ่านข่าวอื่นๆ
รู้จัก Art toy สุดสร้างสรรค์ ฝีมือศิลปินไทย
"นฤมล" ลาออกเหรัญญิก-สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
"อัจฉริยะ" ร้องสอบ ตร.อ้างบังคับผู้ต้องหาเปิดบัญชีม้าแลกไม่ดำเนินคดี