ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยืนยันมียา-เวชภัณฑ์เพียงพอรักษาผู้ต้องขัง

สังคม
27 พ.ย. 66
10:40
437
Logo Thai PBS
เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยืนยันมียา-เวชภัณฑ์เพียงพอรักษาผู้ต้องขัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โต้ข่าวโซเชียล ยืนยันมียา-เวชภัณฑ์เพียงพอรักษาผู้ต้องขัง พร้อมส่งต่อกรณีเกินขีดความสามารถรักษาในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรณีข่าวทางสื่อโซเซียล บิดเบือนข้อมูลให้สังคมเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไม่มีแม้แต่ยาพารา ผ้าก๊อซ หรือสำลี เรือนจำขาดแคลนยา และการรักษาพยาบาลพื้นฐานนั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ปัจจุบันการดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของเรือนจำ ซึ่งภายในสถานพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเฉพาะทาง นักจิตวิทยา เภสัชกร อีกทั้งยังได้ฝึกอบรมผู้ช่วยงานอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) จำนวนรวม 119 คน อัตราส่วน อสรจ. 1 คน ต่อผู้ต้องขัง 33 คน (มาตรฐาน 1 : 50) ซึ่งอยู่ประจำทุกแดน

การดูแลรักษาผู้ป่วยในเรือนจำ พยาบาลวิชาชีพประจำแดน จะเข้าตรวจรักษาทุกวัน หากพบอาการป่วยเบื้องต้นจะรักษาและจ่ายยาในแดน กรณีที่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม จะเบิกตัวส่งมาตรวจที่สถานพยาบาล แดน 7 เพื่อประเมินอาการจากพยาบาลเวร และเมื่อพบว่า อาการป่วยเกินศักยภาพในการรักษาของสถานพยาบาล จะส่งต่อไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ

กรณีอาการป่วยเกินขีดความสามารถของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะรักษาได้ จะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพมากกว่า นอกจากนั้น เรือนจำฯ จะมีแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เข้าตรวจรักษาเป็นประจำ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์เวชกรรมทั่วไป แพทย์จิตเวช และแพทย์ทันตกรรม นอกจากนี้ สถานพยาบาลเรือนจำมีระบบ Telemedicine ปรึกษากับแพทย์โรงพยาบาลแม่ข่ายอีกด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องการจ่ายยาสามัญประจำบ้าน จะจ่ายให้กินเท่าที่จำเป็น ไม่อนุญาตให้เก็บไว้ส่วนตัวในปริมาณมาก เพื่อป้องกันการกินยาเกินขนาด หรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนการจ่ายสำสี และผ้าก๊อซปิดแผล จะแนะนำให้มาล้างแผลที่สถานพยาบาล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ส่วนการจ่ายยาควบคุม เช่น ยาจิตเวชที่มีอาการมึนเมา หรือง่วงซึม จะให้กินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม และกรณีที่มียากินประจำที่รักษาจากโรงพยาบาลเดิม สามารถนำมาฝากไว้กับเภสัชกรเรือนจำ เพื่อตรวจและจ่ายให้ผู้ต้องขังด้วย

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า ยังมียาและเวชภัณฑ์อย่างเพียงพอ โดยได้รับการสนับสนุนจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อีกทั้งยังมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีสถานการณ์โรคระบาดใด ๆ ภายในเรือนจำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง