ถ้า 31 ม.ค.นี้ ไม่เป็นเหตุให้ต้องสะดุดล้ม นายพิธา มีเส้นทางที่จะจุดชนวนการเมืองให้ร้อนขึ้น ประเดิมด้วยศึกซักฟอกนายเศรษฐา ทวีสิน นายรัฐมนตรี ในเดือน เม.ย.นี้ และจากนั้นก็จะเป็น "คู่แข่ง-คู่ชิง" ทางการเมืองกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เดิมที คอการเมืองฟันธงว่าอิสรภาพของอดีตนายกฯ ทักษิณ คือปัจจัยหลักที่จะทำให้การเมืองในรัฐบาลร้อนขึ้น จนอาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะช่วงได้รับการพักโทษด้วยเหตุพิเศษ หรือนับแต่ 22 ก.พ. นี้เป็นต้นไป โดยมีปัจจัยเสริมมาจากการเขย่าเก้าอี้นายกฯ ผ่านศึกซักฟอก และการประเมินผลงานรัฐบาล ในช่วงครบ 6 เดือน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับเข้าสภาฯ ประเด็นนี้กลายเป็นปัจจัยหลัก ที่เข้ามาเขย่ารัฐบาลขึ้นมาทันที
อ่าน : ฉบับเต็ม! มติ ศาลรัฐธรรมนูญ 8:1 "พิธา" ไม่พ้น สส.ปมหุ้นไอทีวี
พรุ่งนี้ (26 ม.ค.2567) พรรคก้าวไกลนำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะแถลงกางไทม์ไลน์ทางการเมือง ว่าจะเดินเกมรุกแบบไหน-อย่างไรบ้าง และแน่นอนว่าต้องวางเส้นทางให้ นายพิธา ที่เพิ่งได้สถานะ "สส." คืนจากศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) ด้วย โดยน่าจะเริ่มจากกำหนดการเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 เพื่อลงมติเลือก นายพิธา ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่ง "ผู้นำพรรค" ด้วย
นายชัยธวัช ตุลาธน และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
และเมื่อเป็น หัวหน้าพรรคที่มี สส.มากที่สุด โดยไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี เป็นประธานหรือรองประธานสภาฯ ย่อมหมายถึงการดำรงตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดใน ม.106 นั่นเท่ากับว่า นายชัยธวัช ตุลาธน จะต้องสับไม้คืนตำแหน่งนี้ให้ นายพิธา พร้อมกับกลไกการขับเคลื่อนทางการเมือง และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ จนถึงวันนี้ นายพิธา ยังคงมีสถานะเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล
เมื่อ 2 ปัจจัยทางการเมืองผนวกรวมกัน
หนึ่งคือกลไกอำนาจบางอย่างจากอดีตนายกฯ ทักษิณ
สองคือกลไกทางการเมืองที่พร้อมจะเขย่ารัฐบาลทุกเมื่อจากนายพิธา
ชนวนการเมือง "จุดไม่ยาก" แล้วจะรับ-จะรุกกันอย่างไร ร้อนแค่ไหนประเดิมผ่าน "ศึกซักถาม-ของ สว." แล้วตามด้วย "ศึกซักฟอก-ของ สส." แม้ผลลัพธ์จะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนทันที-ทันใด แต่ได้แผลแน่ๆ เพราะสภาพ "ฟ้าหลังฝน" ของพรรคก้าวไกล ย่อมหวังผลไม่น้อยแล้วแพ็กกับประชาธิปัตย์อีก มีลุ้น!
ขณะนี้ตนเองยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ตนเองก็ยังมีชื่อเป็นแคนดิเดตอยู่ และยังมีความหวังอยู่เสมอ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บอกด้วยตัวเองแล้วว่า "ยังมีความหวัง" หากการเมืองเดินมาถึงจุดเปลี่ยน "ย่อมต้องคว้าเอาไว้" เปลี่ยนแรกและเป็นที่สังเกตกันอยู่ ก็เพราะนายกฯ เศรษฐา บอกไว้ว่า (ต้องมี KPI ต้องมีการประเมิน) ในรอบ 6 เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง และอย่างที่บอกว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นไป หรือหลังอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เข้าเกณฑ์พักโทษด้วยเหตุพิเศษ อาจจะมีบางอย่างเกิดขึ้นในรัฐบาล
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
อ่าน : "พิธา" เปิดใจหลังได้สมาชิกสภาพ สส. กลับคืนมา
ตามกระแสว่ากันว่า ต้องมีการปรับเกิดขึ้น ปรับเล็กไม่ใช่แค่การปรับ ครม. ไม่เกิน 5 ตำแหน่ง แล้วปรับใหญ่ หมายถึงการปรับ ครม. มากกว่า 10 ตำแหน่งในรัฐบาลเศรษฐา 1 แต่ปรับใหญ่ ในกระแสนี้ หมายถึงการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และที่ลือกันหนาหูมากขึ้น ว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม ก็เริ่มเคลื่อนไหวเขย่าเก้าอี้นายกฯ-เขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี บางตำแหน่งแล้ว โดยเฉพาะเก้าอี้ "รัฐมนตรีกลาโหม"
11 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หรือรัฐบาล 11 พรรคร่วมฯ คงต้องกระชับความสัมพันธ์ภายในกันให้เหนียวแน่น โดยเฉพาะพรรคร่วมฯ ที่เคยร่วมหรือเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม อาจพร้อมเปลี่ยนแปลงในช่วงพลิกผันนี้ก็ได้ ไม่ใช่แค่ "เพื่อไทย" ที่มีชื่อ "แพทองธาร ชินวัตร" จ่อคิวเป็นนายกฯ คนต่อไป แต่ที่ลืมไม่ได้เลยก็เพราะมีชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ด้วย แล้วยังมี "อนุทิน ชาญวีรกูล" และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วย
ค่ำนี้นายกฯ เศรษฐา และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมีนัดดินเนอร์กัน วัตถุประสงค์แรกคือกระชับความสัมพันธ์ที่แฝงนัยทางการเมือง ที่คงต้องพูดคุยกันถึงเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในรอบ 3 เดือนที่ผลลัพธ์อาจไม่ตรงเป้าเท่าที่ควร พรรคร่วมฯ จะว่ายังไง โดยเฉพาะ "ดิจิทัล-วอลเล็ต" ที่เป็นชะงักติดหลัง จะหยุดก็ไม่ได้ จะเดินต่อก็ไม่ชัวร์ และพรรคฝ่ายค้าน "ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์" ก็จับมือประกาศเดินเกมรุกซะด้วย
และนอกเหนือจากกลไก-กลเกมในรัฐบาลชุดนี้แล้ว "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" กลับมาครั้งนี้ ก็ถูกเทียบฟอร์มเป็น "คู่แข่ง-คู่ชิง" ทางการเมืองตัวจริง กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อีกด้วย
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร