ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกมชิงอำนาจออกหน้าไหน? “พท.-ทักษิณ”-“ก.ก.-พิธา” ใครเหนือ?

การเมือง
27 พ.ค. 67
16:08
624
Logo Thai PBS
เกมชิงอำนาจออกหน้าไหน? “พท.-ทักษิณ”-“ก.ก.-พิธา” ใครเหนือ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
น่าสนใจโพล 1 ปี หลังเลือกตั้งของสถาบันพระปกเกล้า โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย กับสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี : 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566”

เพราะ สส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลยังคงนำโด่งอันดับ 1 เหนือคู่แข่งสำคัญคือพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน ประมาณหนึ่งเท่าตัว โดยระบบเขตร้อยละ 35.7 จะเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ส่วนอีก 18.1 จะเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

ส่วน สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 44.9 จะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย จะลงคะแนนให้เพียงร้อยละ 20.2

เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 คะแนนนิยม สส.เขต พรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.67 ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสชนะและได้ สส.เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนลดลง ร้อยละ 7 ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคเสียที่นั่งจากเดิมไปอีก 28 ที่นั่ง

ขณะที่ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.33 ส่งผลให้พรรคมีโอกาสได้ สส.เพิ่มขึ้นอีก 8 ที่นั่ง ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลงร้อยละ 7.49 ส่งผลให้พรรคมีโอกาสได้สส.ลดลง 8 ที่นั่ง

หากรวมทั้ง 2 ระบบ พรรคก้าวไกลมีโอกาสได้ สส.เพิ่มรวมทั้งหมด 208 ที่นั่ง ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่เหลือสส.เพียง 105 ที่นั่ง (พรรคภูมิใจไทย ตามมาเป็นอันดับ 3 เหลือ 61 ที่นั่ง)

ไม่เพียงเท่านั้น คนที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ยังคงเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 46.9 อันดับ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 17.7 อันดับ 3 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 10.5 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อยู่ในอันดับ 4 ร้อยละ 8.7

เป็นที่สังเกตว่า 2 อันดับแรก ที่คนอยากให้เป็นนายกฯ ไม่ได้อยู่ในรัฐบาล หรือมีส่วนในการบริหารประเทศขณะนี้ ซึ่งอาจสะท้อนนัยไม่ประทับใจ หรือไม่ชื่นชอบผลงานการบริหารประเทศของรัฐบาล

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลนายเศรษฐา รวมทั้งเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับการเป็นตัวช่วยรัฐบาล ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่จีดีพีขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 1.5 โดยโชว์กึ๋นแนะรัฐบาลในวันเยือนเมืองย่าโม 25 พ.ค.2567

ให้เลิกเดินหน้าเศรษฐกิจ ทุนนิยมตามแบบฝรั่ง กำหนดเป็นเศรษฐกิจที่ขาดความเห็นใจ ที่กลายเป็นวัฏจักรปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาเร็วกินปลาช้า จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่มากกว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และกลายเป็นที่มาของการรื้อฟื้นการประชุม ครม.เศรษฐกิจ

ไม่เพียงชี้ทางออกแก้ปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่พันธมิตรของนายทักษิณ ยังต้องแบกรับและนำพาพรรคเพื่อไทย ให้กลับมาเป็นพรรคใหญ่ยอดนิยมอันดับ 1 อีกครั้ง ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์

การทาบทามนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา ให้เข้ามาเสริมทัพพรรคเพื่อไทยก็ดี การเชิดชู “กำนันป้อ” นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เสี่ยแป้งมันพันล้านเอี่ยมเฮง ระหว่างไปเยือนนครราชสีมาก็ดี

ล้วนเป็นการกรุยทางหวัง ให้พรรคเพื่อไทย กลับมายึดพื้นที่ภาคอีสานให้ได้อีกครั้ง ทั้งจะตอกย้ำด้วยการจัดประชุม ครม.สัญจรที่นครราชสีมา ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะที่ ปฏิบัติการยื่นสอยนายเศรษฐาของกลุ่ม 40 สว.ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6-3 รับคำร้องไว้วินิจฉัย แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และความเชื่อมั่นในตัวนายกฯเศรษฐาไม่น้อย

แต่นายทักษิณ ยังแสดงความมั่นใจว่า สุดท้ายนายเศรษฐาจะรอดในขั้นตอนการลงมติตามคำร้อง นอกเหนือจากพูดย้ำว่า ดูจากรายชื่อก็รู้ว่าเป็น สว.กลุ่มไหน และมีจุดมุ่งหมายอย่างไร

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นประสบการณ์ เรื่องเก๋าเกมทางการเมือง และบารมีของนายทักษิณ ที่เริ่มเปล่งประกายให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ และจะชัดแจ้งมากขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. ที่อัยการสูงสุดนัดว่า “จะสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง” หรือให้เลื่อนฟังคำสั่งคดี ม.112 ของนายทักษิณออกไปอีก

และจะชัดที่สุด ในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นวันครบกำหนดพ้นโทษอย่างเป็นทางการ

จากนั้นไป ใครจะเป็นคู่แข่งในสนามการเมืองตัวจริง หรือจะเป็นเพียงแค่ต่างฝ่ายต่างเดินหน้า รอเวลาเจรจาประสานกันทางการเมืองต่อไป ต้องลุ้นต้องติดตาม

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าว : อคส.เปิด TOR ขายข้าวค้างโกดัง 10 ปี ยื่นเสนอซื้อ 17 มิ.ย.67

หนี้เสียสินเชื่อบ้านพุ่ง “สภาพัฒน์ฯ”เตือนสัญญาณอันตราย

กสทช. สั่งระงับออกอากาศ "โหนกระแส" 1 วัน 7 มิ.ย.67

ข่าวที่เกี่ยวข้อง