ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุนัขชุมชน" ทางออก "แก๊งมะหมา 4 ขาจรจัด" อยู่ร่วมสังคมไทย

สังคม
31 พ.ค. 67
13:31
1,385
Logo Thai PBS
"สุนัขชุมชน" ทางออก "แก๊งมะหมา 4 ขาจรจัด" อยู่ร่วมสังคมไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปี 2567 ไทยพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 145 ตัว เป็นสุนัข 136 ตัว โค-กระบือ 9 ตัว โดย 3 จังหวัดที่พบโรคสูงสุด สงขลา 26 ตัว อุบลราชธานี 25 ตัว และชลบุรี 14 ตัว

นายณรงค์ เลี้ยงเจริญ ผอ.สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เล่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ปี 2566 พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 0.9 หรือวันละเกือบ 1 ตัว และในปี 2567 ยังควบคุมในอยู่ที่ 0.8-0.9 มั่นใจยังสามารถคุมโรคได้ โดยพยายามทำให้ค่าเฉลี่ยลดลงจนหมดไปจากประเทศไทยในอนาคต ส่วนเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในคน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า ปี 2566 มีผู้ป่วย 6 คน อยู่ในชลบุรี 2 คน ระยอง 1 คน สุรินทร์ 2 คน และสงขลา 1 คน ส่วนปี 2567 พบรายงานผู้ป่วยที่ยโสธร 1 คน ถือว่า ตัวเลขการเกิดโรคลดลง

ณรงค์ เลี้ยงเจริญ

ณรงค์ เลี้ยงเจริญ

ณรงค์ เลี้ยงเจริญ

ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่น สำรวจข้อมูลสุนัขจรจัดทั่วประเทศ ในปี 2565 มีประมาณ 170,000 ตัว ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 160,000 ตัว สถานการณ์ดูเหมือนลดลง แต่นายณรงค์ ยอมรับว่า ตัวเลขอาจคาดเคลื่อนบ้าง อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวไม่ได้รวมพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา แหล่งใหญ่ที่มีสุนัขและแมวจรจัด ส่วนตัวเลขการเกิดโรคสูงสุดในช่วงปี 2566-2567 สอดคล้องกับ 3 จังหวัดที่พบปัญหาสูงสุด

ปัญหาแต่ละที่แตกต่างกัน สุดท้ายก็เป็นสุนัขจร

สุนัขและแมวจรจัดกระจายตัวตามตรอกซอกซอย บางตัวเคยมีเจ้าของแต่เมื่อโตขึ้นกลับไม่ได้รับความรักความเอ็นดูเหมือนเคย หรือแม่สุนัข-แมวออกลูกคลอกใหญ่เลี้ยงต่อไม่ไหว ถูกนำไปปล่อยทิ้งวัด บ่อขยะ หรือที่รกร้างในชุมชน กลายเป็นปัญหาและข้อร้องเรียนทำลายข้าวของ วิ่งไล่รถ ไล่คน ซึ่ง 3 จังหวัดที่พบสัตว์จรจัดสูงสุด

สงขลา อันดับ 1 ส่วนใหญ่สุนัขจรจัดอยู่บริเวณพื้นที่บ่อขยะของเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร ที่อาศัย และหลบภัย เพราะไม่ค่อยมีคนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว

อันดับที่ 2 อุบลราชธานี จังหวัดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นสุนัขจรจัดในชุมชน และอันดับ 3 ชลบุรี ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาแรงงานนำมาเลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกสุนัข วัยน่ารัก แต่เมื่อต้องย้ายไปทำงานที่ไซต์งานใหม่ ไม่สะดวกเคลื่อนย้าย เหล่าสุนัขที่โตเต็มวัยจึงถูกทิ้งไว้ กลายเป็นสุนัขจรจัดที่มีโอกาสเกิดโรคค่อนข้างสูง

เงินเงิน แมวถูกทิ้งได้บ้านใหม่แสนอบอุ่น

เงินเงิน แมวถูกทิ้งได้บ้านใหม่แสนอบอุ่น

เงินเงิน แมวถูกทิ้งได้บ้านใหม่แสนอบอุ่น

ปศุสัตว์ยืนยัน "วัคซีนพิษสุนัขบ้า" เพียงพอ

ก่อนเกิด COVID-19 ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าได้ดี พบเคสสัตว์ป่วยอยู่ที่วันละ 0.5-0.6 ตัว หรือเฉลี่ยครึ่งตัวต่อวัน แต่เมื่อเกิด COVID-19 ทำให้วัคซีนขาดตลาด เพราะผู้ผลิตทุ่มสรรพกำลังไปที่วัคซีน จนการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าลดลงไปด้วย

วัคซีนพิษสุนัขบ้า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การควบคุมโรค และการป้องกันโรค โดยกรมปศุสัตว์ ได้รับงบประมาณในส่วนของการควบคุมโรค จัดซื้อวัคซีนปีละ 500,000 โดส โดสละ 30 บาท หรืองบฯ 15 ล้านบาท เน้นฉีดเมื่อเกิดโรคแล้ว ลักษณะจะฉีดสุนัขและแมวทุกตัวในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค ส่วนสุนัข-แมวที่มีความเสี่ยง หรือถูกตัวสัตว์ที่เป็นโรคดังกล่าวกัด จะฉีดในสูตร 4*4 คือ ฉีดห่างกันครั้งละ 4 วัน จนครบ 4 เข็ม และกักดูอาการ 45 วัน โดยจะปล่อยสัตว์เมื่อไม่พบโรคแล้ว

วัคซีนป้องกันโรค จัดซื้อโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล กทม. พัทยา รวมปีละ 11 ล้านโดส ตามยอดการสำรวจเป้าหมาย รวมถึงออกหน่วยบริการฉีดฟรีให้กับสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ

นายณรงค์ ระบุว่า วัคซีนในระบบราชการถือว่าเพียงพอระดับหนึ่ง และทยอยฉีดแล้ว อีกทั้งประชาชนส่วนหนึ่งนำสัตว์เลี้ยงเข้าใช้บริการในคลินิคเอกชน แต่ยอมรับว่าบางพื้นที่ยังจัดซื้อไม่ได้ และพยายามเร่งรัดต่อไป ก่อนหน้านี้ประสบการณ์ช่วง COVID-19 ทำให้ความกังวลว่าหากในอนาคตเกิดโรคระบาดอีก จะทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนเช่นเดียวกัน หน่วยงานราชการจึงพยายามขับเคลื่อนการผลิตวัคซีนเอง ซึ่งอยู่ในระยะกลาง ระยะยาว

ผอ.สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันประชากรแมวมากขึ้นกว่าสุนัข เมื่อการออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีน-ทำหมัน พบว่ามีแมวมากกว่าสุนัข 2 เท่า ด้วยลักษณะและพฤติกรรมของแมวค่อนข้างว่องไว ปีนขึ้นที่สูงได้ หนีการจับมาทำหมัน ซึ่งปศุสัตว์ตั้งเป้าทำหมันสุนัข-แมว ปีละ 87,000 ตัว ส่วน อปท.ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี และคลินิคเอกชน มูลนิธิ ยอดทำหมันปีละ 300,000-400,000 ตัว โดยปัญหาหลัก คือ การจับสัตว์จรจัดได้ยาก และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ซึ่งพยายามขยายความร่วมมือของหน่วยงานราชการ และ NGO

ตัวเลขการทำหมันสุนัข-แมวสามารถเพิ่มได้ แต่ติดปัญหาหลัก คือ จับไม่ได้ โดยเฉพาะสุนัขจรจัด มีข้อจำกัดทั้งยาสลบ วิธีการจับ เมื่อตื่นตกใจสุนัขบางตัววิ่งเข้าป่า บางครั้งยิงยาสลบไป 1 ตัว ที่เหลือวิ่งเข้าป่า หรือไปสลบในป่า คนที่จับเก่ง ๆ ก็ไม่เพียงพอไปจับทั่วประเทศ

"ปัญหางบประมาณ-ข้อจำกัดจับสุนัข"

ในแต่ละปีกรมปศุสัตว์ ได้รับเรื่องร้องเรียนหลายร้อยเรื่อง ทั้งสุนัขไล่กัดคน สุนัขดุร้าย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยกังวลว่าสุนัขกัดและทำให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยจะประสานสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อประสานหน่วยงานราชการในพื้นที่ มูลนิธิ และ NGO ช่วยกันออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีน-ทำหมัน และดูว่ามีศูนย์พักพิงฯ เพียงพอรองรับหรือไม่ แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าไปจับ

ทางกรมปศุสัตว์ร่วมกับ NGO หาวิธีจับมาให้ได้มากที่สุด เพื่อฉีดวัคซีนและทำหมัน แต่มีข้อจำกัดหลัก คือ งบประมาณ เพราะต้องใช้อุปกรณ์และยาสงบ ยกตัวอย่างยาสลบต้องใช้แบบสลบให้เร็ว ซึ่งมีราคาสูง, อุปกรณ์ในการยิงยามีข้อจำกัด ทางกรมฯ อยู่ระหว่างร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนา การฉีดวัคซีน ที่เดิมใช้ลูกดอกยิงยาสลบปรับมาเป็นยิงวัคซีน หรือใช้วัคซีนชนิดกินแทน

ขณะที่งบประมาณจำกัดเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ บาง อบต.ไม่มีงบประมาณก่อสร้างศูนย์พักพิงเป็นของตัวเอง อปท.จึงพยายามแก้ระเบียบให้แต่ละจังหวัดมีศูนย์ฯ อย่างน้อย 2-3 แห่ง โดยนำสัตว์มาอยู่รวมกันได้ แต่ต้องทำข้อตกลงก่อนก่อสร้าง ขณะที่ กทม.แก้ปัญหาด้วยการซื้อที่ดิน 200 ไร่ใน จ.อุทัยธานี รองรับสุนัข 6,000 ตัว สุดท้ายเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงเสี้ยวหนึ่ง

ยอมรับว่าศูนย์พักพิงไม่เพียงพอ มีข้อจำกัดงบฯ ก่อสร้าง ปริมาณสุนัขแมวบางพื้นที่แออัดเกินไป

การแก้ปัญหาสัตว์จรจัดอย่างเบ็ดเสร็จและเห็นผลทันทีคงเป็นไปได้ยาก นายณรงค์ บอกว่า เบื้องต้นจะสร้างแรงจูงใจให้หน่วยราชการในพื้นที่และประชาชนร่วมมือกันสร้างความภาคภูมิใจที่ได้เป็น "เขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า" ตั้งแต่ระดับ อบต. หรือเทศบาล ต่อมาเป็นระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ทั่วประเทศมีจำนวน 113 แห่ง ที่สำคัญภายในสิ้นปี 2567 จะประกาศให้ "ภูเก็ต" ได้รับรองเป็นเขตปลอดโรคฯ ทั้งจังหวัดเป็นแห่งแรก แต่สุดท้ายแล้ว ผอ.สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ มองว่า "สุนัขชุมชน" ที่ NGO มูลนิธิต่าง ๆ และคนรักสัตว์ พยายามขับเคลื่อน จะเป็นทางออกให้สัตว์จรจัดอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้

"สุนัขชุมชน"เมืองทองฯ" เกือบสะดุด

แต่ทางออกดังกล่าวอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บางชุมชนเริ่มโครงการมาแล้วสุดท้ายสะดุดกลางทาง ไม่ต่างจากพื้นที่ "เมืองทองธานี" ที่เริ่มโครงการ "สุนัขชุมชน" ในปี 2561 ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิ SOS Animal Thailand มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย หน่วยงานรัฐ องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ และจิตอาสาในพื้นที่ รวมทั้งที่พักพิง "จรจัดสรร" ในปี 2565 ซึ่งอาจารย์ยศพร จันทองจีน" เจ้าของโครงการ ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์เหล็ก-ไวนิล สร้างที่หลบแดด-ฝน ให้เหล่าจรจัด จนทำให้โครงการนี้ได้รับเสียงชื่นชม และเป็นไวรัลไปทั่วโลก

โครงการจรจัดสรร

โครงการจรจัดสรร

โครงการจรจัดสรร

กระทั่งต้นปี 2567 เริ่มมีการขอให้มูลนิธิ SOS นำสุนัข 50-60 ตัวออกจากเมืองทองธานี ต่อมาในช่วงเดือน เม.ย.2567 บางกอกแลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ แจ้งว่ามีสุนัขจรจัด 300-500 ตัว และต้องการให้นำออกไป พร้อมช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 1 พ.ค.2567 มีการติดประกาศต่างจุดต่าง ๆ ห้ามให้อาหารสุนัข หรือปล่อยสุนัขในพื้นที่เมืองทอง รวมทั้งนำสุนัขไปเลี้ยงที่บ้าน หากพ้นวันที่ 31 พ.ค.2567 ถือว่าทั้งหมดเป็นสุนัขจรจัด และจะจับไปไว้ในสถานที่ที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และดำเนินการตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 กลุ่มคนรักสัตว์ และมูลนิธิต่าง ๆ รวมตัวกันเรียกร้องให้โครงการสุนัขชุมชนอยู่คู่เมืองทองธานี พร้อมคัดค้านการห้ามให้อาหารสุนัขและนำออกจากพื้นที่

ทุกคนทำด้วยใจ ทุ่มเทกันมาก จำได้ทุกตัว

ทุก ๆ วัน เครือข่ายคนรักสัตว์ในพื้นที่เมืองทองธานี นับ 50 คน จะกระจายตัวอย่างน้อย 21 จุด ทั้งโซนพักอาศัย ย่านศูนย์การค้า และที่ประชุม นำอาหาร 1-2 มื้อไปให้เหล่าสุนัขจรจัด บางส่วนแก่ ป่วย พิการ ตาบอด มีชื่อเรียกขานแต่ละกลุ่มตามพื้นที่ ทั้งแก๊งหมาโมริ 6 ตัว แก๊งหมาป่า 15 ตัว แก๊งหมาหน้าตึก-หลังตึก 4 ตัว ในจำนวนนี้พิการ 2 ตัว

พวกเขาทำให้ด้วยใจ ดูแลสัตว์เหล่านี้ตั้งแต่เกิดยันตาย นานนับหลายปีต้องออกเงินเองเดือนละ 6,000-10,000 บาท ทั้งค่าอาหาร ยารักษาโรค วัคซีน จนถึงค่าเผาสุนัข จึงรู้สึกสะเทือนใจที่ล่าสุดมีประกาศห้ามให้อาหาร และเตรียมนำสัตว์จรจัดออกจากพื้นที่ หลายจุดถูกเก็บถังน้ำ กะละมัง จานใส่อาหารออกไป โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาดูแลสัตว์เหล่านี้เป็นอย่างดี และไม่ได้วางอาหารเกะกะเลอะเทอะ

อีก 1-2 วันจะเข้าสู่วันประกาศให้สุนัขออกจากเมืองทอง สร้างความกังวลให้กลุ่มคนรักสัตว์ว่าจะให้สัตว์เหล่านี้ไปอยู่ที่ใด นำมาสู่การประชุมหารือทางออก

กลุ่มคนรักสัตว์ค้านนำสุนัขจรออกจากเมืองทองธานี

กลุ่มคนรักสัตว์ค้านนำสุนัขจรออกจากเมืองทองธานี

กลุ่มคนรักสัตว์ค้านนำสุนัขจรออกจากเมืองทองธานี

"สุนัขชุมชนเมืองทอง" ได้ไปต่อ

นายพีระบุญ เจริญวัย หรือ "ปุ๋ม" ประธานมูลนิธิและองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี จัดการประชุมร่วมกันทั้งเทศบาลนครปากเกร็ด ปศุสัตว์ บริษัท บางกอกแลนด์ เจ้าของโครงการเมืองทองธานี เจ้าของพื้นที่ และกลุ่มคนรักสัตว์ มาหารือร่วมกันในวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าของพื้นที่ยินดีให้ร่วมหารือ จึงได้ส่งตัวแทนจากมูลนิธิต่าง ๆ และผู้ให้อาหารรวม 5 คน เข้าพูดคุยหาทางออก ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง

พีระบุญ เจริญวัย

พีระบุญ เจริญวัย

พีระบุญ เจริญวัย

ตัวแทนเจรจาพยายามอธิบายปัญหาสุนัขจรจัดทั่วประเทศว่า ศูนย์พักพิงของทั้งรัฐ เอกชน และ NGO มีพื้นที่รองรับเพียง 10% จากประชากรสุนัขทั้งหมด การผลักไสสุนัขไปอยู่พื้นที่อื่นจึงเป็นไปไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ "สุนัขชุมชน" ไม่มีแนวทางอื่นดีกว่านี้

นายพีระบุญ ยังระบุว่า ทางบริษัทบางกอกแลนด์ บอกว่าไม่ได้ต้องการนำสุนัขออกจากเมืองทองธานีทั้งหมด แต่เฉพาะพื้นที่ที่มีเรื่องร้องเรียน และขอความร่วมมือให้อาหารเป็นจุด ๆ ไม่เลอะเทอะเรี่ยราด

เจ้าของพื้นที่ระบุว่า ที่ผ่านมาหาบ้านให้หมาแล้ว 17 ตัว ไม่เคยมีแนวคิดจับไปปล่อย

ประธานมูลนิธิและองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand เปิดเผยข้อสรุปเบื้องต้นของการหารือ ว่า เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยยกเลิกประกาศไม่ให้สุนัขอยู่ในพื้นที่ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้, ร่วมมือกันสร้างความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้ "สัตว์ชุมชน" ยังอยู่คู่เมืองทองธานี

สัตว์ที่จะนำเข้าสถานพักพิง คือ ตัวที่ต้องสงสัยหรือเฝ้าระวังพิษสุนัขบ้า คือ ตาขวาง น้ำไหลยืด เดินหลังแข็ง ไม่สู้แสง กัดหมาหรือคนไปทั่ว ตัวที่ดุร้ายกัดคนและมีหลักฐานชัด ตัวที่เจ้าของเสียชีวิต ติดคุก สิ้นศักยภาพในการเลี้ยง

"สุนัขชุมชน" เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เทศบาล ปศุสัตว์ มูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ และกลุ่มคนรักสัตว์ ช่วยกันแก้ปัญหาให้สัตว์อยู่ร่วมกันคนในชุมชนได้อย่างปกติสุข หรือมีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งพื้นที่เมืองทองธานี น่าจะมีการทำหมันสุนัขแล้วประมาณ 60% ตามหลักให้เกิดประสิทธิผลต้องได้ถึง 80% โดยจะเร่งทำหมันต่อไป เพื่อไม่ให้จำนวนสัตว์เพิ่มจนเกิดภาวะวิกฤต

นอกจากนี้ ต้องหาบ้านให้สุนัขควบคู่ไปด้วย ทั้งลูกสุนัข หรือสุนัขลักษณะดี ส่วนตัวไหนหาบ้านไม่ได้ ทำวัคซีน-ทำหมันแล้ว จะให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม

หาบ้านมาเป็นร้อยตัว ได้ 10% ก็เก่งแล้ว คนไทยมี 2 มุม ลูกหมาจะหาบ้านได้ง่าย ส่วนสัตว์โตหาบ้านยาก เพราะไม่คุ้นเคย เทคนิคต้องสร้างสตอรี่ความน่าสงสาร หาหมามาเลี้ยงดีกว่าซื้อมาเลี้ยง

สำหรับสุนัขชุมชนทั่วประเทศมีนับร้อยแห่ง โดยหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ทั้งพื้นที่สมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหลายเขตใน กทม.

ประธานมูลนิธิและองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand  กล่าวปิดท้ายว่า อยากให้หน่วยงานรัฐเข้าใจข้อจำกัดของการแก้ปัญหา "สุนัขจรจัด" และจริงใจ เพราะทางออก คือ "สัตว์ชุมชน" คน-สัตว์อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลและมีเมตตาธรรม

คนรักสัตว์นำอาหารมาให้สุนัขถูกทิ้ง

คนรักสัตว์นำอาหารมาให้สุนัขถูกทิ้ง

คนรักสัตว์นำอาหารมาให้สุนัขถูกทิ้ง

สุนัขชุมชน หรือ แก๊งมะหมา 4 ขา หมาจร และแมวจรจัด แม้จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอยู่บ้าง แต่สรรพสัตว์ทุกชีวิตเล็ก ๆ ล้วนอยู่ร่วมโลกเดียวกัน การไม่เบียดเบียน ความเข้าใจและความเมตตาจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น

อ่านข่าว

อีกทางเลือก! ที่พักพิง "จรจัดสรร" แก้ปัญหาหมาจรจัด ด้วยการออกแบบ 

เปิดภารกิจช่วย "หมา" 300 ชีวิต ติดน้ำท่วมท่ากกแห่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง