ตัวตึง-คนดัง ร่วงระดับจังหวัด ล็อกโหวต สว.ตั้งแต่ร่าง กม.

การเมือง
17 มิ.ย. 67
15:16
4,627
Logo Thai PBS
ตัวตึง-คนดัง ร่วงระดับจังหวัด ล็อกโหวต สว.ตั้งแต่ร่าง กม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผ่านรอบระดับจังหวัดแบบทุลักทุเลไม่น้อย สำหรับ สว.ที่ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ เพราะยังมีสาระพันปัญหา การประท้วงนับคะแนน และคำร้องของผู้สมัคร สว.เรื่องกติกาและวิธีการ

ที่สำคัญ ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนทั่วไปโดยตรง ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่า สส. และ สว. เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. พยายามแจกแจงก่อนหน้านี้ว่า สภาผู้แทนฯ คือตัวแทนประชาชน แต่วุฒิสภา คือตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ

เมื่อคนกรุงเทพฯ และคนเมืองใหญ่ ยังไม่เข้าใจเรื่องเลือก สว. จึงแทบไม่ต้องพูดถึงคนต่างจังหวัดหรือเขตชนบท ที่มีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก ผลจากความตระหนี่เรื่องพีอาร์ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้คนได้รับทราบราวกับเป็นเรื่องความลับ

แต่ประเด็นที่รับรู้กันดีในกลุ่มผู้สมัคร สว.ต่างจังหวัด คือมีความเคลื่อนไหวจาก “บ้านใหญ่” และกลุ่มผู้มีบารมีทางการเมือง ทั้งการจัดตั้ง เรื่องเกณฑ์คนไปลงสมัครโดยมีค่าตัวและค่าเสียเวลาให้ ไม่นับ 2,500 บาท ที่เป็นค่าสมัคร

เท่ากับมี “การล็อกโหวต” ตั้งแต่ระดับอำเภอ ทำให้คนที่ตั้งใจไปสมัคร แต่ไม่มีพรรคพวกไปสมัครเพื่อลงคะแนนให้ ต้องตกรอบตาม ๆ กัน

แต่แปลกที่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ กกต.ทั้งระดับพื้นที่ และ กกต.ส่วนกลาง กลับรู้น้อยมาก คำชี้แจงส่วนหนึ่ง คือ บอกต้องรอให้มีคำร้องเข้ามาก่อน จึงจะดำเนินการ ทั้งที่ตระหนักดีว่า จะมีผู้สมัครที่เป็นคนในพื้นที่สักกี่คน ที่อยากหาเรื่องใส่ตัว หรือกล้าจะเป็นปฏิปักษ์ต่อ “บ้านใหญ่” หรือกลุ่มผู้มีบารมีทางการเมืองในพื้นที่

การเลือก สว. ยังเป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งของภาพใหญ่ และโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกออกแบบโดยคณะกรรมการร่างฯ ชุดนายมีชัย ฤชุพันธ์ ที่ร่างทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” นับสิบฉบับ

จึงต้องออกแบบให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือหนุนให้ “ลุงตู่” ได้ไปต่อบนเส้นทางการเมือง จึงต้องวางกฎเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ และเต็มไปด้วยกลไกที่ซับซ้อน มีหลุมพรางและหุบเหว สำหรับคนอื่นที่เป็นคู่แข่ง

ที่ผ่านมา จึงได้เห็นทั้ง คะแนนเขย่ง สส.ปัดเศษ สูตรคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อที่พิสดาร แม้แต่การนับเวลาอยู่บนตำแหน่งนายกฯ 8 ปี นำไปสู่ชัยชนะที่คนทั่วไปงุนงง โดยเอาคะแนนดิบเป็นเกณฑ์ ได้เป็นพรรคใหญ่อันดับ 1 ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก่อนจะอยู่ยาวถึง 9 ปี

เพียงแต่บริบททางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2562 กับเลือกตั้งปี 2566 แตกต่างกัน บทบาทของคนรุ่นใหม่ กลุ่มหัวก้าวหน้าไปไกล เกินกว่าจะใช้กฎเกณฑ์กติกาตามรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาได้ทุกรอบ จึงทำให้ “ลุงตู่” ไม่ได้ไปต่อ

และยังได้ส่งผลให้การเมืองไทย อยู่ในสภาพพิกลพิการ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก อันเป็นผลจากโควิด 19 และการสู้รบในยูเครนและอิสราเอล ทำให้อยู่ในสภาพว่า “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ทำอะไรติดขัดไปหมด

จึงเป็นปัจจัยหนี่งที่ทำให้การเลือก สว.ระดับจังหวัดที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาด ๆ จึงเป็นไปอย่างที่เห็น ผู้สมัครระดับตัวดึง คนเด่น คนดัง ที่ประกาศตัวมุ่งหวังจะเข้าสู่เวทีการเมืองเพื่อแก้ปัญหา และท้าชนกติกาที่ไม่ชอบมาพากล อย่าง ศ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ไม่ได้ไปต่อ

รวมทั้งตัวตึงอย่าง รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพฯ ที่เคยได้คะแนนจากคนกรุงเทพฯ มากที่สุด และอีกหลายคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม รวมทั้งนักตรวจสอบที่ไม่ใช่นักร้อง อย่างนายวีระ สมความคิด สอบตกกันระนาว

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อย ยังมีตัวแทนภาคประชาชน นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และอื่น ๆ อีกส่วนหนึ่ง ผ่านเข้ารอบไปได้ แต่ต้องไปลุ้น “ด่านหิน” สำคัญระดับประเทศว่า จะสู้กับเครือข่ายฝ่ายการเมืองอาชีพ ได้แค่ไหน

ต้องลุ้นกันเหนื่อยหนักในรอบสุดท้าย

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง