ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เข้าใจใหม่! ปลากะพงขาวใช้กินลูก ไม่ได้กินปลาหมอคางดำตัวใหญ่

สิ่งแวดล้อม
15 ก.ค. 67
17:21
15,438
Logo Thai PBS
เข้าใจใหม่! ปลากะพงขาวใช้กินลูก ไม่ได้กินปลาหมอคางดำตัวใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยังเป็นที่คาใจของใครหลายคนว่า การที่กรมประมงจะใช้ "ปลากะพงขาว" ซูเปอร์ฮีโร่ร่วมแสนตัว ช่วยกำจัด "ปลาหมอคางดำ" ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ผลสำเร็จจะมากน้อยเพียงใด จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน คุ้มหรือไม่กับการยุทธวิธี "ปลากินปลา"

ไทยพีบีเอสออนไลน์ขยายประเด็นเรื่องนี้ให้เป็นเรื่อง ๆ ไป เริ่มต้นต้องทำความเข้าใจอนาโตมี หรือ กายวิภาคของปลาทั้ง 2 ชนิดไปด้วยกันก่อน

คำเตือน บทความนี้ เขียนตามข้อมูลเชิงวิชาการ แต่นำเสนอในมุมของการเล่าด้วยภาษาไม่เป็นทางการ เพื่อให้เข้าใจกันอย่างง่ายที่สุด 

ปลาหมอคางดำ 

เป็นปลาประจำถิ่นของประเทศในแถบแอฟริกา ไม่มีต้นกำเนิดในไทย จึงถือเป็น "เอเลี่ยนสปีชีส์" ที่ไม่ควรมีอยู่ในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด การเข้ามาของปลาหมอคางดำจึงถือว่าเป็นการรุกรานสัตว์น้ำและระบบนิเวศของไทยอย่างรุนแรง 

ธรรมชาติของปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่เกิดในน้ำกร่อย แต่สามารถไปโตได้ในน้ำจืด หรือ น้ำเค็ม เรียกว่าอยู่ได้ทุกน้ำ แม้กระทั่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำไม่ดีพอ ก็เจริญเติบโตได้ ตัวเต็มวัยจะมีขนาดความยาวประมาณ 20 ซม. ตัวเมียใช้เวลาตั้งท้องเพียง 22 วันก็วางไข่ จากนั้นมันจะสามารถตั้งท้องได้ต่อทันที ส่วนตัวผู้จะทำหน้าที่เป็นพ่อผู้ปกป้องอันตรายให้ลูก ด้วยการฟักไข่ในปากตัวเอง ยอมอดข้าวเป็นเวลากว่า 2-3 สัปดาห์จนกว่าไข่จะฟักออกมาเป็นตัว แล้วพ่อปลาจึงปล่อยลูกปลาหมอคางดำออกมาจากปลา

การดูแลลูกแบบนี้ทำให้อัตราการรอดชีวิตของไข่ที่ฟักออกมาเป็นตัวมีมากถึงร้อยละ 99 

หลังจากที่พ่อปลาปล่อยลูกออกจากปากแล้ว ก็จะไปอมไข่ที่แม่ปลาตัวอื่น ๆ วางไว้อีก และจะวนเป็นวัฎจักรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยมีเนื้อ เพราะไม่ค่อยได้กินอาหาร แต่เมื่อต้องกินก็จะกินแหลกลาญ 

ลำไส้ของปลาหมอคางดำมีความยาวมากกว่าลำตัวของตัวเองถึง 4 เท่า นั่นหมายถึงปลาหมอคางดำจะหิวตลอดเวลา จึงทำให้มีนิสัยที่ดุร้ายเพราะความต้องการอาหารมีไม่เคยหยุด เหล่าฝูงมัจจุราชใต้น้ำเหล่านี้สามารถกินได้ทุกอย่างทั้งสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ พืชน้ำ และซากสิ่งมีชีวิตที่ทับถมใต้น้ำ

ดู ๆ ไปแล้ว ปลาหมอคางดำ คือการรวมร่างของสัตว์ 3 ชนิด ซักเกอร์ที่กินซาก ปิรันยาที่กินสัตว์น้ำ และหอยเชอร์รี่ที่กินพืช 
ปลาหมอคางดำ นำมาทำอาหาร

ปลาหมอคางดำ นำมาทำอาหาร

ปลาหมอคางดำ นำมาทำอาหาร

ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาวเป็นปลากินเนื้อ กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่า "ปากของตัวมันเอง" ทุกชนิดเป็นอาหาร และยังเป็นปลาที่กินพวกเดียวอีกด้วย ไม่กินพืชน้ำใด ๆ มีนิสัยนักล่าฉายา "นักล่าลุ่มน้ำกร่อย" คอนเซปต์ "กินหมดไม่สนลูกใคร" และจุดสำคัญที่ทำให้ถูกคัดเลือกเป็นคู่ท้าชิงกับปลาหมอคางดำก็คือ เป็นปลาที่สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืด เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวมากถึง 20-40 ซม.

ปลากระพงเกิดในน้ำกร่อย โตได้ในน้ำจืด
ปลาหมอคางดำเกิดในน้ำจืด โตได้ในน้ำกร่อย

แม่ปลากะพงขาวจะวางไข่ครั้งหนึ่ง 200,000-400,000 ฟอง แต่กว่าจะเป็นแม่ปลาได้ ต้องผ่านการใช้ชีวิตเป็นสาวรุ่นมานาน 3-4 ปีก่อน หลังจากแม่ปลาปล่อยไข่ที่ผสมน้ำเชื้อพ่อปลาลงสู่แหล่งน้ำกร่อย หรือ ชายทะเลแล้ว ไข่จะฟักเป็นลูกปลาในเวลาไม่ถึง1 วัน 

แต่จุดอ่อนของปลากระพงขาวคือ ความสะอาดของน้ำ ถ้ามีค่าออกซิเจนในน้ำน้อย ก็อาจทำให้ปลากะพงขาวตายได้ และนิสัยการกินกันเอง ก็เป็นการฆ่าตัดตอน และคุมกำเนิดตามธรรมชาติไปในตัว เรียกว่า กว่าจะได้ซูเปอร์ฮีโร่ปลากะพงขาวสักตัวคงพัฒนาฝีมือหลบหนีการสวบกันเองมานับครั้งไม่ถ้วน 

ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาว

ปลากระพงขาว VS ปลาหมอคางดำ

เมื่อเข้าใจต้นกำเนิดของปลาแต่ละชนิดแล้ว ที่นี้ลองมาจับคู่ว่าเหตุใดกรมประมงจึงเลือกใช้ "ปลากะพงขาว" เป็นคู่ปรับ "ปลาหมอคางดำ" 

  1. แน่นอนว่าธรรมชาติของ "สัตว์โลกทุกชนิด" รู้จักกัด ฉีก เคี้ยว อาหารเพื่อให้เล็กกว่าปากจะได้กลืนได้ ปลากะพงขาวก็เช่นกัน มันจะรอสวบหรือฮุบลูกปลาที่เล็กกว่าปากตัวมันเองเสมอ

  2. แหล่งน้ำที่พูดถึงคือ น้ำจืดและน้ำกร่อย มีน้ำทะเลบ้างประปราย คู่ชกในเวทีนี้จึงเหลือแค่ ปลากะพงขาวและปลาหมอคางดำ เท่านั้น ชะโด หรือ ปลาอื่น ๆ หมดสิทธิ์

  3. สถานที่เกิดเหตุ ปลากะพงขาวโตเต็มวัยได้ในน้ำจืด ในขณะที่น้ำจืดคือแหล่งฟักตัวของ "ลูกปลาหมอคางดำ" เมื่อพ่อปลาหมอคางดำฟักลูกออกมาจากปาก ปลากะพงขาวก็สวบเข้าให้! 

  4. แต่การจะจำกัดพื้นที่ให้ปลากะพงขาวสวบแต่ลูกปลาหมอคางดำนั้น ต้องทำให้พื้นที่ปิดเท่านั้น 

  5. เพราะธรรมชาติปลาหมอคางดำ แม้ตัวโตเต็มวัยจะโตได้ไม่เท่าปลากะพงขาว แต่ความว่องไวนั้นชนะขาด และความอึด ถึก อดทนต่อคุณภาพน้ำที่ออกซิเจนต่ำนั้นมีมากกว่าปลากะพงขาว 

  6. ถ้าปลากะพงขาวมาเจอสถานการณ์เช่นนั้น ยังไงก็ไม่ฮุบลูกปลากินอย่างแน่นอน ว่ายไม่ทัน ออกซิเจนในน้ำน้อย เหนื่อย!  

  7. ส่วนแม่ปลาหมอคางดำนั้น "ท้องเดือนละรอบ" พ่อปลาหมอก็ช่วยฟักในปาก "ยังไงก็รอด" จะหวังพึ่งแต่ปลากะพงขาวคอยกินให้ประชากรลด คงไม่รอด!

  8. ส่วนใครที่คิดว่า ปล่อยปลากะพงขาวกินลูกปลาหมอคางดำหมดแล้ว ทำยังไงต่อ ... ก็จับขายได้เลย ถือว่าประหยัดค่าอาหารเลี้ยงปลากระพงไปในตัว
ชัด ๆ อีกสักรอบ ปลากะพงขาวใช้กำจัดปลาหมอคางดำ เฉพาะตอนเป็นลูกปลาหมอคางดำและต้องอยู่ในบ่อปิด เท่านั้น นอกนั้นไม่กิน ว่ายหนีเพราะเจอแหล่งน้ำเปิด หากินอย่างอื่นง่ายกว่าเยอะ 

ขออนุญาตใช้คำว่า สวบ และ ฮุบ เพราะทำให้เห็นถึงอากัปกิริยาที่ชัดเจนของปลากะพงขาว เนื่องจากปลากะพงขาวไม่กัด แต่ฮุบเข้าปากแล้วเคี้ยว 

"น้ำจิ้มซีฟู้ด" เท่านั้นที่ Knock คางดำ

การให้ธรรมชาติคัดสรรกันเองย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่นั่นต้องเป็นในกรณีของระบบนิเวศแบบปกติ แต่ขณะนี้เอเลี่ยนสปีชีส์บุกแหล่งน้ำไทย วิธีการ Set Zero ต้องพึ่งความสามารถของผู้บริโภคขั้นสูงสุดอย่าง "มนุษย์" เท่านั้น แม้ปลาหมอคางดำจะเนื้อน้อย ตัวเล็ก ก้างเยอะ ไม่อร่อย แต่ก็เหมาะกับการจับมากินและขายเสริมรายได้งาม ๆ ได้อยู่บ้าง เพราะประชากรปลาหมอคางดำล้นทะลักทั้งแหล่งน้ำ ชายฝั่งทะเลทางใต้ ตะวันตก และลามเข้าบึงมักกะสัน ขนาดนี้ 

การใช้มนุษย์แทรกแซงระบบธรรมชาติที่ปั่นป่วนเข้าขั้นวิกฤตคือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ 

การแพร่พันธุ์เพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตนเองนั้น คือสัญชาตญาณของสัตว์ แต่ในวันที่สัตว์ชนิดนั้นคือ "ความไม่ต้องการ" ก็ต้องถูกกำจัด เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของสัตว์น้ำ พืชน้ำ ประจำถิ่นไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ 

ยิ่งมารุกรานในไทย อาวุธที่ใช้ก็หาไม่ยาก ตะไคร้ พริก กระเทียม มะนาว น้ำปลา ผักชีนิดหน่อย หรือจะหมักเป็นปลาร้า น้ำปลา น้ำยาป่า อย่าชะล่าใจฝีมือแม่ครัว-พ่อครัวหัวป่าก์ เมื่อรู้ว่ากินได้ ทำไมจะไม่ลองรังสรรค์เมนูกันดูล่ะ  

รู้หรือไม่ : มนุษย์เคยล่า นกโดโด้ ช้างแมมมอธ กินจนสูญพันธุ์มาแล้วนะ และยุคนั้นยังไม่รู้จักน้ำจิ้มซีฟู้ดกันเลยด้วย จบ! 

อ่านข่าวเพิ่ม : 

กทม.หาทางสกัด "ปลาหมอคางดำ" จ่อลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกร

เปิดรายงานฉบับเต็ม "คณะกรรมการสิทธิฯ" ใครทำ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง