สทนช.เตือน 23 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม-น้ำป่าหลาก 16-22 ส.ค.

ภัยพิบัติ
14 ส.ค. 67
07:59
5,839
Logo Thai PBS
สทนช.เตือน 23 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม-น้ำป่าหลาก 16-22 ส.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สทนช.เตือนหลายอำเภอใน 23 จังหวัดภาคเหนือ-อีสาน-ตะวันออกเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม รวมถึงให้เฝ้าระวัง 10 แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาที่อาจมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นและล้นตลิ่ง

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออก

สทนช.ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 16-22 ส.ค.นี้ ดังนี้

สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทัน

ภาคเหนือ

  • เชียงราย (อ.เมืองเชียงราย แม่สาย เชียงแสน เวียงแก่น ขุนตาล พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง และแม่ลาว)
  • เชียงใหม่ (อ.แม่อาย และเชียงดาว)
  • แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า และขุนยวม)
  • ตาก (อ.ท่าสองยาง และแม่สอด)
  • ลำพูน (อ.เมืองลำพูน บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง แม่ทา ลี้ และป่าซาง)
  • ลำปาง (อ.วังเหนือ และงาว)
  • พะเยา (อ.เมืองพะเยา แม่ใจ ภูซาง ปง เชียงคำ จุน และเชียงม่วน)
  • น่าน (อ.เมืองน่าน เฉลิมพระเกียรติ แม่จริม บ้านหลวง ปัว ท่าวังผา เวียงสา ทุ่งช้าง เชียงกลาง สันติสุข บ่อเกลือ สองแคว และภูเพียง)
  • แพร่ (อ.เมืองแพร่ เด่นชัย ลอง และวังชิ้น)
  • อุตรดิตถ์ (อ.เมืองอุตรดิตถ์ ลับแล พิชัย ทองแสนขัน และท่าปลา)
  • พิษณุโลก (อ.ชาติตระการ นครไทย วังทอง และเนินมะปราง)
  • เพชรบูรณ์ (อ.เมืองเพชรบูรณ์ หล่มเก่า และหล่มสัก)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • เลย (อ.เชียงคาน และปากชม)
  • หนองคาย (อ.เมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย โพธิ์ตาก และรัตนวาปี)
  • บึงกาฬ (อ.เมืองบึงกาฬ ปากคาด พรเจริญ ศรีวิไล บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา และบึงโขงหลง)
  • หนองบัวลำภู (อ.เมืองหนองบัวลำภู ศรีบุญเรืองและโนนสัง)
  • อุดรธานี (อ.เพ็ญ บ้านดุง ทุ่งฝน หนองหาน และหนองแสง)
  • สกลนคร (อ.เมืองสกลนคร บ้านม่วง คำตากล้า เจริญศิลป์ วานรนิวาส สว่างแดนดิน ส่องดาว และพรรณานิคม)
  • นครพนม (อ.เมืองนครพนม บ้านแพง นาทม ศรีสงคราม ท่าอุเทน นาหว้า โพนสวรรค์ ปลาปาก และธาตุพนม)

ภาคตะวันออก

  • นครนายก (อ.เมืองนครนายก ปากพลี และบ้านนา)
  • ปราจีนบุรี (อ.เมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม นาดี และกบินทร์บุรี)
  • จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี มะขาม ขลุง และแหลมสิงห์)
  • ตราด (อ.คลองใหญ่ และเกาะกูด)

เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ตราด และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ โดยให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด

รวมถึงเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ดังนี้

ลำน้ำงาว (อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย)
แม่น้ำสาย (อ.แม่สาย จ.เชียงราย)
ลำน้ำปาย (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า และปาย จ.แม่ฮ่องสอน)
แม่น้ำลาว (อ.เชียงคำ และภูซาง จังหวัดพะเยา อำเภอเทิง จ.เชียงราย)
แม่น้ำน่าน (อ.เมืองน่าน เวียงสา เชียงกลาง ภูเพียง และท่าวังผา จ.น่าน)
แม่น้ำยม (อ.ปง เชียงม่วน จ.พะเยา, อ.สอง และหนองม่วงไข่ จ.แพร่, อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก)
แม่น้ำแควน้อย (อ.นครไทย จ.พิษณุโลก)
แม่น้ำป่าสัก (อ.หล่มสัก และหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์)
ลำน้ำก่ำ (อ.เรณูนคร จ.นครพนม)
แม่น้ำตราด (อ.เมืองตราด เขาสมิง และบ่อไร่ จ.ตราด)

อ่านข่าว

น้ำป่าหลากซัดบ้านแม่โกปี่ ขุนยวม เสียชีวิต 1 คน

5 อำเภอแม่ฮ่องสอนยังเสี่ยงฝนตกน้ำป่าหลากถึง 15 ส.ค.

ท่วมแล้วกว่า 1 แสนไร่ “สุโขทัย พะเยา พิษณุโลก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง