ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปรับแผน มาร์กจุดแบคโฮ เร่งช่วย3 ชีวิตติดอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง

ภูมิภาค
26 ส.ค. 67
20:57
1,308
Logo Thai PBS
ปรับแผน มาร์กจุดแบคโฮ เร่งช่วย3 ชีวิตติดอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การค้นหาผู้สูญหายเหตุดินถล่มในอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ล่าสุด จนท.ปรับแผนค้นหา หลังช่วงเช้าพบสัญญาณชีพแต่ไม่พบใคร โดยปรับแผนด้วยการมาร์กจุดที่คิดว่ารถแบคโฮติดอยู่ด้านใน ก่อนจะใช้ท่อขนาดใหญ่ดันเข้าไป เพื่อให้ จนท.กู้ภัยนำเครื่องตรวจสัญญาณชีพอีกครั้ง

วันนี้ (26 ส.ค.2567) ภาพด้านในอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา เฟส 1 ช่วงคลองขนานจิตร ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ถล่มจนทำให้มีผู้สูญหายซึ่งเป็นคนงานชาวจีน 2 คนและชาวเมียนมา 1 คน

จากสภาพจะเห็นกองดินขนาดใหญ่ปิดกั้นภายในอุโมงค์กว้างกว่า 40 เมตร เจ้าหน้าที่พยายามใช้รถขุดดินออกเพื่อเปิดทางและสอดท่อขนาด 1.20 เมตร เข้าไปด้านในเพื่อค้นหาผู้สูญหาย ซึ่งคาดว่าจะอยู่ห่างจากจุดที่ดินถล่มเข้าไปเกือบ 10 เมตร โดยสภาพภายในที่อากาศไม่ถ่ายเททำให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อนกับทีมวิศวกรและทีมกู้ภัย

การทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาเพราะตอนนี้ผ่านมานานกว่า 30 ชั่วโมงแล้ว ที่ผู้ประสบภัยอยู่ด้านในและยังไม่ทราบชะตากรรม แม้ในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ สแกนหาผู้สูญหายและพบสัญญาณชีพของทั้ง 3 คน ห่างจากจุดดินถล่มเข้าไป 10 เมตร แต่เมื่อนำท่อดันดินเข้าไปกลับไม่พบ ทำให้ตอนนี้เจ้าหน้าได้ปรับแผนด้วยการมาร์กจุด ที่คาดว่ารถแบคโฮคนงานจะติดอยู่ด้านใน เพื่อทำการขุดดินก่อนจะวางท่อ และให้ชุดกู้ภัยนำเครื่องแสกนชีพจรเข้าไปตรวจวัดซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเคลียร์พื้นที่

สำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในอุโมงค์ที่มีทั้งความแคบและฝุ่น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคอยเติมอากาศเข้าไปด้านในและวัดคุณภาพอากาศภายในอุโมงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงาน

ขณะที่การขุดดินภายในอุโมงค์ทำให้ดินทรุดตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ขุดเจาะอุโมงค์อีกฝั่ง ซึ่งเป็นจุดที่ดินถล่มที่ห่างจากปากอุโมงค์เพียง 100 เมตร เพื่อลดแรงบีบอัดของโครงสร้างอุโมงค์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำอุปกรณ์เข้าไปค้นหาในฝั่งนี้ได้ เพราะมีความชัน โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถขุดเจาะลงไปได้กว่า 20 เมตรแล้ว

รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ติดตามภารกิจการค้นหา ซึ่งตอนนี้จะใช้ 2 แนวทางหลัก คือการใช้อุปกรณ์และเทคนิคทางวิศวกรรม พร้อมแนะนำให้ทีมคนหาของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ประเมินความเสี่ยงของผู้ประสบภัย ที่ต้องติดอยู่ด้านในเป็นเวลานาน ควบคู่กับภารกิจการค้นหาด้วย

ถอดบทเรียนต่างประเทศกู้ภัยอุโมงค์

ภาพทางเข้าอุโมงค์มีหินถล่มลงมา น่าจะบอกอุปสรรคการช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี ลูกศรสีแดง คือ จุดที่พบว่ายังมีดินสไลด์ลงมาเรื่อย ๆ หากมีการขุดเปิดทางจากตรงนี้เข้าไป ส่วนด้านล่าง คือ ท่อขนาดใหญ่ 1.20 เมตร หวังจะนำเข้าไปช่วยทั้ง 3 ชีวิตให้ลอดออกมา

อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง เป็น "อุโมงค์หิน" ค่อนข้างใหญ่ กว้างประมาณ 13 เมตร ชั้นดินภูเขา จ.นครราชสีมา ส่วนใหญ่จะผุพังง่ายอยู่แล้ว แน่นอนตามหลักการ สร้างอุโมงค์ ยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งมีความเสี่ยงถล่มลงมาสูง อุโมงค์แห่งนี้อยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ด้านบนอุโมงค์เป็นภูเขาดินสูง 30 เมตร และตัวอุโมงค์จะอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 10 เมตร แต่ส่วนที่ถล่มลงมา คือมวลหินบริเวณนี้ 6 เมตร

เมื่อมาดูตำแหน่งคนงานที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ จะใช้ท่อขนาดใหญ่ เพื่อให้คน ลอดออกมาตามท่อได้หรือไม่ พบว่า ทั้ง 3 คน ถูกดินถล่มลงมาทับหมด 

คนที่ 1 และคนที่ 2 จะอยู่ตรงบริเวณใกล้ ๆ กับปากอุโมงค์ ระยะห่าง 2- 4 เมตรเท่านั้น ระหว่างปฏิบัติงานยังอยู่บนรถแบคโฮ และรถตักดิน แต่คนที่ 3 อยู่ลึกเข้าไป นับจากท้ายอุโมงค์เข้ามา 8 เมตร และตามหลักการช่วยเหลือสากล จะต้องช่วยคนที่มีโอกาสมากที่สุดก่อน คือ คนที่อยู่ใกล้สุดจากกองดินถล่ม

วิธีการที่จะช่วย คือ นำท่อเหล็กขนาดใหญ่ดันเข้าไป ไว้สำหรับลำเลียง ออกซิเจน น้ำ อาหาร หากดูจากตำแหน่งสอดท่อเข้าไปครั้งแรก ยังไม่ตรงกับตำแหน่งคนที่ติดอยู่ เพราะทั้ง 3 คนถูกกองทับด้วยวัสดุ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธี เปิดเป็นพื้นที่กว้าง เพื่อให้ใช้เครื่องมือตัดถ่างได้

โดยต้องใช้วิธีการต้องขุดเปิดปากอุโมงค์ แต่หากใช้วิธีนี้ จะมีมวลหินไหลมาลงซ้ำไม่หยุด สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านปฎพีและฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ แนะนำการรถไฟ คือ ต้องใช้บิ๊กแบ็ก ค้ำยันฐานหินไม่ให้ไหลลงมา เมื่อเปิดทางช่วยคนแรกได้แล้ว ก็วางแผนขุด-ค้ำยันหินสำหรับช่วย คนในตำแหน่งถัดไป

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดินถล่มในอุโมงค์ เกิดขึ้นในไทย ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุที่อุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2560 ครั้งนั้นมี นักธรณีวิทยาเสียชีวิตทันที 2 คน สาเหตุมาจากสภาพธรณีไม่ดี บริษัทเสริมความมั่นคงให้ผนังอุโมงค์ไม่ทัน

ในปี 2566 มีปฏิบัติการช่วยชีวิตคนงาน 41 คนติดอยู่ภายในอุโมงค์ประเทศอินเดียสำเร็จ นับเป็นความสำเร็จของภารกิจกู้ภัยครั้งใหญ่ แต่ในปฎิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้ของไทย "ยากกว่า" อินเดีย เพราะอินเดียคนงาน 41 คน ติดอยู่ตรงกลางอุโมงค์ ไม่มีดินถล่มลงทับ แต่กรณีไทยมีหินถล่มลงมาทับ ผู้ประสบภัยทั้ง 3 คน ตามหลักช่วยเหลือก็ต้องช่วยคนที่มีโอกาสรอดที่สุดออกมาก่อน ที่อินเดียครั้งนั้น ปฎิบัติการช่วย 41 ชีวิตติดภายในอุโมงค์ครั้งใหญ่ของโลก ใช้เวลานานถึง 15 วัน ไม่ต้องกดดันแข่งกับเวลา เพราะสามารถส่งอาหาร ออกซิเจน และคุยโต้ตอบกันได้ ทำให้การช่วยเหลือประสบความสำเร็จ

แต่กรณีนี้ไม่ต่างจาก 13 สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี ติดในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน รู้ว่าคนอยู่ข้างใน แต่ไม่รู้ว่าจะเอาออกมายังไง และในขณะที่ยังไม่เจอ ก็กังวลว่า จะใช้ชีวิตยังไง จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา

อ่านข่าวเพิ่ม :

กว่า 15 ชม.ดินถล่มในอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงโคราช เร่งช่วย 3 ชีวิต

ดินถล่มในอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงโคราช สูญหาย 3 คน เร่งค้นหา

เปิดภารกิจทีม USAR Thailand ช่วย 3 ชีวิตติดอุโมงค์ถล่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง