ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขุมทรัพย์“เบนิน” เส้นทางผ่านส่งออก“ข้าวไทย” สู่ ทวีปแอฟริกา

เศรษฐกิจ
4 ก.ย. 67
12:27
753
Logo Thai PBS
 ขุมทรัพย์“เบนิน” เส้นทางผ่านส่งออก“ข้าวไทย” สู่ ทวีปแอฟริกา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“เบนิน” ประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ถูกจัดให้เป็นประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีจำนวนประชากรประมาณ 12 ล้านคน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เบนินเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในตลาดโลก ระหว่าง ปี 2562-2567 ไทยส่งออกข้าวไทยไปแล้วจำนวน 2,393,442 ตัน แต่ปัจจุบันการส่งออกไปแอฟริกาลดลง เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง อย่าง อินเดีย และเวียดนาม

หากเอ่ยถึงสาธารณรัฐเบนิน อาจจะไม่คุ้นหูแต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร จะคุ้นเคยกับประเทศเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่ประมาณ 10.47 ล้านไร่ ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ที่มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับไนเจอร์ และบูร์กินาฟาโซ ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินี ทิศตะวันออกติดกับไนจีเรีย และทิศตะวันวันตกติดกับโตโก มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 125 กิโลเมตร

“เบนิน” ยักษ์จิ๋วแอฟริกา คู่ค้าไทย

ข้อมูลจาก World Bank ปี 2563 รายงานว่า เบนินมีประชากร 12 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน 99% ซึ่งเป็นชนเผ่าต่าง ๆ ถึง 42 ชนเผ่า ทั้งนี้เบนินเป็น 1 ในประเทศ ผู้ก่อตั้ง Economic of Community of West African States (ECOWAS) และยังเป็นสมาชิกองค์กรเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างภูมิภาคหลายองค์กรในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเคยเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่งผลให้ฝรั่งเศสกลาย เป็นพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญของเบนิน

แม้เบนินจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีการทำการค้ากับประเทศอื่น ๆ รวมทั้ง ไทย โดยมีการซื้อขายสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2551 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเบนิน คือ ข้าว ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์พลาสติก หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวให้สาธารณรัฐเบนิน มาอย่างต่อเนื่อง

โดยช่วงพีคสุดตั้งแต่ปี 2562-2567 ไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดเบนินสูงถึงจำนวน 2,393,442 ตัน มีทั้ง ข้าวขาว ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมไทย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพียง 0.6 ล้านไร่ หรือ 0.93 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งระหว่างปี 2561/62 และ 2565/66 และสามารถผลิตข้าวเฉลี่ยปีละ 0.30 ล้านตันเท่านั้น

ในปี 2565/66 เบนินผลิตข้าวได้เพียง 0.33 ล้านตัน เนื่องจาก ข้าวไม่ใช่อาหารหลักของชาวเบนิน จึงทำให้ผลผลิตข้าว มีปริมาณค่อนข้างคงที่ ไม่มีการเพิ่มพื้นที่เพื่อเพาะปลูก แต่จะบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลัก จึงมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมากที่สุด

แต่ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคข้าวของชาวเบนินเพิ่มขึ้น ซึ่งนำข้าวมาปรุงเป็นอาหารได้ง่ายและชนิดข้าวที่นิยมบริโภค คือข้าวขาว และข้าวหอม และส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าข้าวและมีวางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ขณะที่ผลผลิตข้าวภายในประเทศมีไม่มากนัก เนื่องจากไม่ใช่อาหารหลักของประเทศ จึงไม่ปรากฏข้อมูลการส่งออกข้าวเบนิน อีกทั้งประชากรเบนินไม่นิยมบริโภคและเห็นว่าข้าวที่มีคุณภาพต่ำ

“อินเดีย” คู่แข่งไทย ส่งออกข้าว “เบนิน”

ข้อมูลจากกรมศุลกากร รายงานว่า นับตั้งแต่ 2562 -2566 พบว่า เบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียมากที่สุด รวม 3,387,540 ตัน รองลงมาเป็นประเทศไทย ปริมาณ 2,393,325 ตัน และเอมิเรตส์ ปริมาณ 732,981 ตัน สิงคโปร์ ปริมาณ 208,970 ตัน โตโก ปริมาณ 101,674 ตันและประเทศอื่น ปริมาณรวม 441,820 ตัน

ในขณะที่ไทย แม้จะมีการส่งออกข้าวไปยังเบนิน ตั้งแต่ปี 2562-2566 แต่กลับพบว่า ประเภทข้าวที่ส่งออกสูงสุด คือ ข้าวนึ่ง จำนวน 1,841,855 ตันเฉพาะปี 2562 ไทยส่งออกข้าวนึ่งไปมากถึง 774,152 ตัน เนื่องจากประเทศแถบทวีปแอฟริกานิยมข้าวชนิดนี้

โดยข้าวนึ่ง เป็นข้าวที่ได้มาจากการแช่ข้าวเปลือกในน้ำ จากนั้นจึงนำไปนึ่งหรือต้มจนสุกในระดับหนึ่ง แล้วจึงนำไปอบ หรือตากให้แห้ง ซึ่งข้าวนึ่ง มีวิตามินและแร่ธาตุที่สูง เนื่องจากการแช่ข้าว จะทำให้สารอาหารจากเปลือกซึมเข้าสู่เมล็ดข้าว เมื่อมีการสีเอาเปลือกออก สารอาหารจึงไม่หลุดไปกับเปลือกข้าว

รองลงมาเป็นข้าวขาว ปริมาณ 517,743 ตัน และข้าวหอมมะลิไทย ปริมาณ 30,437 ตันและ ข้าวหอมไทย ปริมาณ 23,950 ตัน โดยปี2562 ไทยส่งออกข้าวไปเบนิน มากสุดปริมาณรวม 1,066,581 ตัน โดยสาเหตุที่ไทยส่งอกข้าวไปเบนินมาก

เนื่องจากมีการพยากรณ์เกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในบางประเทศของภูมิภาคเอเชียทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง และอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ เช่น จีน อินเดีย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 2019 ทำให้ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าอาหารกักตุนมากขึ้น ประกอบกับความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้นในบางประเทศ

แต่หลังจากนั้นปริมาณส่งออกข้าวไทยไปตลาดเบนินลดลง เนื่องจากเบนินหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 พบว่าเบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียพุ่งสูงถึง 1,071,686 ตัน ในขณะที่นำเข้าข้าวจากไทยเพียง 138,206 ตันเท่านั้น เนื่องจากราคาข้าวของอินเดียและปากีสถานถูกกว่าข้าวไทย

อินเดีย-ปากีสถาน ชิงตลาดข้าวไทย

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า ไม่มีข้อมูลปรากฏว่าเบนินส่งออกข้าว เนื่องจากผลผลิตมีไม่เพียงพอและไม่ใช่อาหารหลักของประเทศ ดังนั้นเมื่อผลิตไม่เพียงต่อการบริโภค เบนินมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศทั้งเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง

ข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-2564 พบว่า เบนินนำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 2.14 ล้านตัน และปี 2564 ลดการนำเข้าข้าวเหลือ 1.59 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอินเดีย 56% รองลงมาเป็นไทย 24% เอมิเรตส์ 10% สิงคโปร์และปากีสถาน 3% ซึ่งเป็นการนำเข้าสูงกว่าการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเบนินนำเข้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง

เบนินถือว่าเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในทวีปแอฟริกา ซึ่งไทยส่งออกข้าวไปเบนินมากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากแอฟริกาใต้ แต่ปี 2563-2564 การส่งออกข้าวไทยเจอปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า ประกอบค่าขนส่งและค่าระวางเรืออยู่ในระดับสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สูงและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดเบนิน

เบนินลดการนำเข้าข้าวจากไทย เห็นได้จาก ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกข้าวไปเบนินเพียง 59,808 ตันเท่านั้น และปี2566 ส่งออกไปเพียง 139,206 ตัน ลดลงกว่าครึ่งเทียบกับปี2565 สาเหตุหลักๆ มาจากเรื่องราคา

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวอีกว่า นโยบาย มาตรการ และกฎระเบียบของการค้าข้าวระหว่างประเทศ พบว่า เบนินมีอัตราภาษีและอุปสรรคทางการที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากรัฐบาลเบนินต้องการลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกกับผู้นำเข้าในประเทศ ให้สามารถนำเข้าและส่งออกต่อสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อย่าง กลุ่มประเทศซาเฮล ที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลทรายสะฮารา ประกอบด้วย เซเนกัล มอริเตเนีย มาลี บูร์กินนาฟาโซ แอลจีเรีย ไนเจอร์ ชาด แคเมอรูน ซูดาน และเอริเทเรีย ที่นำเข้าจากเบนินอย่างต่อเนื่อง

ข้าวไทย “แพง-เสี่ยงภาษีสูง” ทำส่งออกลดลง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย อธิบายว่า เหตุที่ไทยส่งออกข้าวไปเบนินลดลง แม้ว่าอินเดียจะแบนการส่งออกข้าวขาว และขึ้นภาษีข้าวนึ่ง 20% แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยไปตลาดเบนินมากนัก เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง และยังคงนำเข้าข้าวจากอินเดีย แม้ว่าอินเดียจะขึ้นภาษีแต่ก็ถือว่ายังมีราคาที่ถูกกว่าข้าวไทย

เบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียเพื่อส่งออกต่อไปยังไนจีเรีย เพราะเบนินไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวมาก และไม่นิยมบริโภคข้าว ประกอบกับไนจีเรียมีกฎหมายห้ามนำเข้าข้าว ทั้ง ๆ ที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นเหตุผลทางการเมือง ดังนั้นไนจีเรียต้องนำเข้าข้าวผ่านเบนินปีละล้านตัน แต่ข้าวส่วนใหญ่มาจากอินเดียไม่ใช่ของไทย ดังนั้นที่ผ่านมาตลาดลักของข้าวไทย คือแอฟริกา

นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ด้วยกฎหมายของไนจีเรียและเบนินที่ยังไม่เปิดกว้าง ประกอบกับความมั่นใจในเรื่องของการจ่ายเงิน ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่จะไปตั้งบริษัทที่ไนจีเรีย หรือ เบนินต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และส่วนใหญ่โมเดิร์นเทรด จะเป็นกลุ่มทุนจากยุโรป ที่มาซื้อและส่งออกไปยังแอฟริกา

ผู้ประกอบการไทย ยังไม่มั่นใจ เพราะที่นั่น ไม่มีความมั่นคงทั้ง เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และการจ่ายเงินซึ่งค่อนข้างเสี่ยง และผู้ประกอบการไทยจึงไม่อยากเสี่ยง เพราะเกรงจะสูญเงิน นอกจากนี้สถาบันการเงินไทย ไม่มีกล้ารับประกันการซื้อ-ขายที่มาจากประเทศเหล่านี้ ส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งในตลาดข้าวที่เคยขายให้เบนินและไนจีเรีย ให้กับอินเดีย

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุเบนินเป็นประเทศยากจน แต่สามารถสั่งซื้อข้าวไทยเป็นอันดับ 2 ของโลก อาจเป็นใช้ตลาดข้าวเพื่อฟอกเงินของกลุ่มทุนหรือนั้น แหล่งข่าวคนเดิม อธิบายว่า การใช้เบนินเป็นเส้นทางฟอกขาวหรือส่งออกข้าวไปขายในราคาถูก แล้วซื้อกลับมาขายในประเทศอื่นๆในราคาต่ำกว่า ไม่มีใครทำ เพราะราคาข้าวในปัจจุบันไม่ได้สูงและข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งประกอบกับเบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่และยังราคาถูกกว่าไทยมาก เชโดยเฉพาะข้าวนึ่งถูกกว่าข้าวไทยถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ต้องลุ้นว่า อินดียจะประกาศยกเลิกจำกัดการส่งออกเมื่อไหร่ การที่อินเดียแบนการส่งออกข้าวส่งผลดีต่อไทยระยะสั้นๆ แต่หากข้าวฤดูกาลใหม่ของอินเดียที่จะออกประมาณพ.ย. และน่าจะเป็นครอปที่ดีแม้ปริมาณจะลดลง แต่ถือว่าเป็นครอปใหญ่ อาจทำให้อินเดียยกเลิกแบนส่งออกข้าว ซึ่งจะทำให้ทั้งไนจีเรียและเบนินลดการนำเข้าข้าวไทยลงได้

เส้นทางผ่าน “ส่งออก”ข้าวไทยสู่แอฟริกา

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกข้าวยังเบนิน ส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศที่ 3 กลุ่มประเทศ แอฟริกา ไนจีเรีย เซเนกัล มอริเตเนีย มาลี บูร์กินนาฟาโซ แอลจีเรีย ไนเจอร์ ชาด แคเมอรูน ซูดาน และเอริเทเรีย มีหลายบริษัท เช่น ไร้ซ์แลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล,เอเซีย โกลเด้น ไรซ์,แสงฟ้าอะกริโปรดักส์,สยามโกลเด้นไรซ์,สยามโกลเด้นไรซ์,

และโรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์,กำแพงเพชร เอ็กซ์ปอร์ต,มาริน่า เซนเทอร์,โกลเด้น แกรนารี่,โอเรียนทัล โปรดิวซ์,ไทย แกรนลักซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไรซ์,พงษ์ลาภ,เยนเนอรัล มิลล์ คอร์ปอเรชั่น,เอเชีย อินเตอร์เทรด ไรซ์ เอ็กซ์ปอร์ต,ซี.พี.อินเตอร์เทรด,ไทยฟ้า (2511),โอแลม (ประเทศไทย),โกลบอล พรีเชียส ไรช์,และข้าวสุวรรณภูมิ

ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่า 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค-พ.ค.) พบว่า อินเดีย ส่งออกข้าวไปเบนิน ปริมาณลดลง ลดลง 31 % หรือ 562,551 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 820,457 ตัน ขณะที่อันดับ 1 คือ ซาอุดิอาระเบีย ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น 18% หรือ 741,043 ตันในปีนี้

ทั้งนี้ไทยมีเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้ไว้ที่ปริมาณ 8.2 ล้านตัน มูลค่า 191,000 ล้านบาท หรือ 5,300 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 1.3 ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.5ล้านตัน ข้าวนึ่ง 0.8 ล้านตัน ข้าวขาว 5.3 ล้านตัน และข้าวเหนียว 0.3 ล้านตัน

โดยมีการคาดการณ์ ปริมาณผลผลิตข้าวจากประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ ปี 2567 มีปริมาณรวม 520 ล้านตันข้าวสาร และปี2568 ทุกประเทศมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมมีปริมาณ 528 ล้านตันข้าวสารเพิ่มขึ้น 1.4 % แบ่งเป็น จีน ปี 2568 ปริมาณเพิ่มขึ้น 1% หรือ 146 ล้านตันข้าวสาร อินเดีย ปริมาณ 138 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.7 % บังกลาเทศ ปริมาณ 38 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 2.7% อินโดนีเซีย ปริมาณ 34 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 3% เวียดนาม ปริมาณเท่าเดิมกับปีนี้ที่ 27 ล้านตันข้าวสาร และไทย เพิ่มขึ้น0.5% หรือ 20.10ล้านตันข้าวสาร

ขณะที่ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 12.60 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 1.6% เมียนมา ปริมาณ 12.10 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 1.3% ปากีสถาน ปริมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น1.3% บราซิล ปริมาณ 7.50 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 7.1% และปีระเทศอื่น ปริมาณรวม 82.77 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 2.3% ทั้งนี้สาเหตุที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีหน้าสถานการณ์คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก จากลานีญา

โดยอินเดียยังคงผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลก มีการคาดการณ์ว่า ปีนี้อินเดียจะส่งออกได้ 17 ล้านตันข้าวสาร แม้ว่าอินเดียจะแบนการส่งออกข้าว และปี2568 อินเดียจะยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าว ปริมาณ 18 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ไทยและเวียดนาม ปีหน้าคาดว่าจะมีปริมาณส่งออกข้าวเท่ากันที่ 7.50ล้านตันข้าวสาร

ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวในตลาดโลก ปี 2568 ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวเบอร์หนึ่ง ปริมาณ 4.70 ล้านตันข้าวสาร รองลงมาเป็นเวียดนาม 2.95 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 7.3% ซึ่งเวียดนามจะนำเข้าข้าวเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สามอีกที ในขณะที่เบนิน อยู่อันดับที่ 17 ที่เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวจากไทย ซึ่ง 6 เดือนของปีนี้ เบนินนำเข้าข้าวไทยเพียง 61,940 ตันเท่านั้น

ประเทศ “ยักษ์เล็ก” แบบเบนิน แม้จะเป็นที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าประเทศ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปริมาณการนำเข้าข้าว จากไทย อินเดีย และปากีสถาน กลับสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก น่าสนใจว่า เส้นทางการเป็น “ฮับ”ข้าวโลก มีเบื้องหน้า-เบื้องหลัง? หรือไม่

 อ่านข่าว:

ชาวนาม้วนเสื่อ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" โปรเจกต์ใหม่"รัฐบาล"ไม่ได้ไปต่อ

ปิดตำนาน ข้าวสาร 10 ปี ส้มหล่น“ทรัพย์แสงทอง ไรซ์-สหธัญ ”

ชาวนาเมิน โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” อยากได้ไร่ละพันกลับคืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง