ป่าต้นน้ำ "เวียงป่าเป้า" หาย? ต้นเหตุน้ำป่ารุนแรง

ภัยพิบัติ
24 ก.ย. 67
19:22
66
Logo Thai PBS
ป่าต้นน้ำ "เวียงป่าเป้า" หาย? ต้นเหตุน้ำป่ารุนแรง
มีการตั้งคำถาม ทำไมป่าต้นน้ำอย่างหมู่บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จึงเกิดน้ำป่า-ดินถล่มรุนแรง นอกจากปัจจัยฝนตกหนัก เกินขีดความสามารถที่ดินจะอุ้มน้ำไว้ได้ ยังมีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่

จากสถานการณ์บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ถูกน้ำป่าพัดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 มีสภาพคล้ายถูกตัดขาด ดินสไลด์ปิดทางเข้าหมู่บ้าน และยังไม่สามารถนำเครื่องจักรมาช่วยเปิดทางได้ ต้องใช้คน ขนอาหารแห้ง และน้ำดื่มเข้าไปให้ โดยคืนนี้ (24 ก.ย.2567) ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตจากไฟฟ้าโซลาร์เซลล์

สำหรับวิธีจะเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านห้วยหินลาดใน คือการเดินเท้า เพราะน้ำป่าและดินสไลด์ ไหลลงมาปิดทับเส้นทาง และต้นไม้หักโค่น กีดขวางหลายจุด

ทีมข่าวเดินเท้าเข้าไปพร้อมเจ้าหน้าที่ ตชด.ที่ขนอาหารแห้งและน้ำดื่มเข้าไปให้ผู้ประสบภัย เดินลัดเลาะป่า และฝ่าดินโคลน ท่ามกลางฝนที่ยังตกลงมา ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมง

โรงเรียน-บ้านเรือน เสียหายหนัก

เมื่อมาถึงโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน พบว่า อาคารเรียน โรงอาหาร ห้องสมุด ห้องน้ำ ศาลาเอนกประสงค์ และบ้านพักครู เสียหายทั้งหมด เต็มไปด้วยท่อนซุง และเศษไม้ที่พัดมากับน้ำ

บ้านเรือนที่ถูกน้ำป่าพัด ส่วนใหญ่อยู่ริมน้ำ ความแรงของน้ำ พัดรถกระบะและดินโคลน มาทับถมบ้าน จนเสียหายอย่างหนัก

ทั้งโรงเก็บน้ำผึ้ง โรงเก็บชา และห้องสมุด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผลผลิตทางการเกษตร และทรัพย์สิน ถูกน้ำพัดหายไป

ไม่มีทั้งไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์ ระบบประปาหมู่บ้านเสียหาย ส่วนชาวบ้านย้ายไปพักบนดอย ซึ่งถูกทำเป็น "จุดรวมพล"

ชาวบ้านบอกว่า น้ำป่าหลากลงมาอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด เก็บทรัพย์สินไม่ทัน และไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงเท่านี้มาก่อน

สำรวจป่าต้นน้ำห้วยหินลาดใน

น้ำป่าหลากลงมากลางชุมชน สร้างความแปลกใจให้ชาวบ้านอย่างมาก เพราะขึ้นชื่อว่าป่าต้นน้ำย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อไปดูพื้นที่ไม่ไกลจากชุมชนป่าต้นน้ำ ย้ำว่าบางส่วนเป็นภูเขาหัวโล้น จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันรุนแรงหรือไม่

น้ำป่า โคลนดิน ท่อนไม้ขนาดไหนจำนวนมาก หลากเข้าท่วมชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย สร้างความตกใจ ให้ชาวบ้านอย่างมาก เพราะชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในแนวเขตป่าต้นน้ำ แต่กลับได้รับความเสียหายหนัก มีสภาพไม่ต่างจากสึนามิ

เมื่อมาดูภาพ Google Map แสดงให้เห็นสภาพพื้นที่จริงของบ้านห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาสูง มีแนวร่องห้วยหินลาด-ฉางข้าวหลวง เป็นทางน้ำ มีความลาดชันพอสมควร ทำให้เมื่อฝนตกหนักน้ำฝนไหลลงร่องน้ำ และหลากเข้าท่วมชุมชนอย่างรวดเร็วได้

หากมองผิวเผินก็อาจไม่พบความผิดปกติอะไร นอกจากเป็นป่าต้นน้ำสมบูรณ์ แล้วน้ำป่า โคลนดิน ท่อนไม้ ซัดบ้านทั้งหลังจมหายไปในร่องน้ำ มวลน้ำมาหาศาลมาจากไหน?

หากมาดูภาพถัดมา ไม่ต่างจากผลไม้ที่ถูกหนอนเจาะกินด้านใน บริเวณนี้อยู่ไม่ไกลจากบ้านหินลาดใน คือ "ภูเขาหัวโล้น" อยู่ในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ปลูกไร่ข้าวโพดเกือบหมดแล้ว

สำหรับพื้นที่ป่าไม้ภาคเหนือ เหลือเพียง 63.24% หายไปมากถึงเกือบ 200,000 ไร่ จากทั้งหมด 37 ล้านไร่ ในปี 2566 นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เชื่อว่านี่เป็นสาเหตุหลัก ทำให้เกิดน้ำป่ารุนแรงในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพราะสภาพพื้นที่จริงป่าลดลง

"แต่ถ้าไปดูตรงกลางไปลึกๆ ภูเขาปลุกพืชเกษตรกรรมค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่ข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยว ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหัวโล้น เมื่อฝนตกหนัก ก็จะพัดโคลนลงมา"

ยืนยันไม่ใช่ "Rian Bomb"

ผศ.ภาณุ ตรัยเวช ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีนี้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น ในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย ยืนยันไม่ใช่ เพราะ "Rian Bomb" คือ ปรากฏการณ์ลมพัดลงมาในแนวดิ่ง แล้วเอาหยดน้ำลงมาด้วย ทำให้ฝนตกหนักลงมาครั้งเดียว จะทำให้น้ำท่วมรุนแรง แตกต่างฝนตก จ.เชียงราย เกิดจากฝนประจำถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุเท่านั้น

ทุกๆ ปีพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้าจะเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง ดังนั้นเกษตรกรปลูก "ข้าวโพด" อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหานี้ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการ ของรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่สำเร็จ นำมาสู่เหตุความสูญเสียภัยพิบัติรุนแรงไม่ต่างจากสึนามิ

อ่านข่าว :

วันแรก! 26 ก.ย.ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาน้ำท่วมออนไลน์

ครม.เคาะลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ก.ย.เล็ง "ทางรัฐ" จ่ายเยียวยาน้ำท่วม

ทน.เชียงใหม่ ตั้งวอร์รูมรับมือ “น้ำปิง” เพิ่มปริมาณ

ทางหลวงชนบท 12 สายทางเหนือ-อีสานน้ำยังท่วม รถผ่านไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง