วันนี้ (18 พ.ย.2567) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง เปิดผลชันสูตร ซากพะยูนเกยตื้นที่ท่าเรือเกาะปู จ.กระบี่ พบพะยูนมีร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม ภายนอกมีเพรียงเกาะทั่วลำตัว ไม่มีแผลฉกรรจ์หรือแผลจากเครื่องมือประมง ส่วนการตรวจอวัยวะภายใน พบข้อสังเกตหลายอย่างเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภายในหัวใจห้องบนขวาและล่างขวา มีก้อนลักษณะเป็นลิ่มสีเหลือง เนื้อเยื่อปอด มีสีไม่สม่ำเสมอและมีเลือดคั่ง ในกระเพาะพบอาหารจำพวก "หญ้าทะเล" เล็กน้อย น้ำหนักประมาณ 500 กรัม เป็นต้น
สรุปสาเหตุการตาย คาดว่าป่วยจากภาวะก้อนลิ่มอุดตันในหัวใจ ร่วมกับป่วยเรื้อรังจากภาวะปอดผิดปกติ ทำให้สัตว์อ่อนแอและจมน้ำตาย
"ธรณ์" ตั้งข้อสังเกต "หญ้าทะเล" แหล่งอาหารพะยูนลดลง
สอดคล้องกับ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งข้อสังเกตถึงพะยูนตัวนี้ แหล่งอาหารของพะยูนอย่าง "หญ้าทะเล"
มีสาระสำคัญว่า เดิมเกาะปู จ.กระบี่ มีหญ้าทะเลหลายพันไร่ แต่ตอนนี้โลกร้อนจึงเหลือแต่ตอ พะยูนจึงไม่มีอาหารกิน ทีมวิจัยคณะประมงฯ ลงไปแปลงต้นพันธุ์หญ้าทะเลที่นั่น ซึ่งหญ้าสมบูรณ์ดีและกำลังขยายแปลง แต่กลับพบข่าวร้าย คือการตายของพะยูนเพศเมียที่มีสภาพผอมโซเป็นพะยูนตัวที่ 5 ในเดือน พ.ย. รวมทั้งปีมีพะยูนตายแล้ว 36 ตัว ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี พบพะยูนตายถึง 76 ตัว
นายกสมาคมรักเลฯ เรียกร้องเร่งฟื้นฟู "หญ้าทะเล"
อาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลจังหวัดกระบี่ เชื่อว่า พะยูนตัวล่าสุดน่าจะอดอาหารตาย เพราะพื้นที่ที่พบซาก คือ บริเวณเกาะปู รวมถึงพื้นที่เกาะจำ และ เกาะศรีบอยา เคยเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ แต่ตอนนี้กว่าร้อยละ 90 หญ้าทะเลตาย จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล
ข้อมูลที่น่าสนใจ พบพะยูนตายถี่ขึ้น เฉพาะเดือน พ.ย.นี้ พบพะยูนตายแล้ว 5 ตัว ในทะเลฝั่งอันดามัน ตัวแรก พบซากวันที่ 3 พ.ย. มีอาการป่วยเรื้อรังจากภาวะขาดอาหารเป็นเวลานาน เฉพาะรอบสัปดาห์นี้พบตายแล้ว 3 ตัว ทั้งที่ป่าคลอก จ.ภูเก็ต, เกาะลิบง จ.ตรัง, และล่าสุดเกาะปู จ.กระบี่ ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่เหล่านี้เดิมล้วนเป็นแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน
เร่งหาวิธีฟื้นฟูแหล่ง "หญ้าทะเล"
ปัญหาเรื่องแหล่งหญ้าทะเล แหล่งอาหารของพะยูนเสื่อมโทรม ทำให้ส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พยายามฟื้นฟูบริเวณบ้านแหลมไทร อ.สิเกา จ.ตรัง โดยใช้วิธีล้อมคอกแปลงทดลองหญ้าทะเล ป้องกันสัตว์ทะเลเข้าไปกัดกิน ซึ่งเริ่มทดลองตั้งแต่ 5 เดือนที่แล้ว พบว่าหญ้าที่อยู่ในคอกเจริญเติบโตดี ต่างจากหญ้าทะเลที่อยู่นอกคอกกั้น พบใบสั้น และถูกสัตว์ทะเลกัดกิน มองว่าวิธีการล้อมคอกฟื้นฟูหญ้าทะเลได้ผล เพราะได้หญ้ากลับคืนมา และเตรียมขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ
ส่วนที่ "เกาะลิบง" อ.กันตัง จ.ตรัง ที่เคยเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูน เมื่อปี 2566 เคยนับได้กว่า 180 ตัว ที่บริเวณหน้าหอชมพะยูน ช่วงใกล้เขาบาตูปูเต๊ะ คือ จุดชมพะยูนที่นักท่องเที่ยวมาแล้วจะได้เห็นแทบทุกวัน เพราะตรงนี้มีหญ้าคาทะเล หรือ หญ้าชะเงาใบยาว ปกคลุมจนเขียวทั่วบริเวณ
แต่ปัจจุบัน สภาพเป็นหาดทรายสีคล้ำ ไม่มีหญ้าทะเลหลงเหลือ ทำให้พะยูนอพยพเป็นจำนวนมากประมาณต้นปี 2567 บางกลุ่มอพยพไปถึงอ่าวนางกระบี่ บางกลุ่มไปถึงทะเลสตูล และอาจไปไกลถึงมาเลเซีย
สันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง บอกว่า รอบเกาะลิบง เกาะมุกด์ มีหญ้าทะเลเสื่อมโทรม จนหญ้าตายไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ การสำรวจพะยูนพบน้อยมากไม่ถึง 10 ตัว ตอนนี้การช่วยเหลือเร่งด่วน คือ "ผักทดแทน" ที่เอาลงไปให้แต่ก็เจอปัญหาว่า เต่าทะเล เข้ามาแย่งกิน
หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ไม่ได้กระทบเฉพาะพะยูน เพราะหญ้าทะเล ถือเป็นระบบนิเวศแห่งหนึ่งแยกออกจากป่าชายเลน ชายฝั่ง หรือ แหล่งปะการัง ชาวเกาะลิบงที่ทำอาชีพประมงมีรายได้กว่า 20 ล้านบาท/ปี จากการจับ หอยชักตีน ปูม้า และปลา ในแหล่งหญ้าทะเลในช่วงน้ำลง และการท่องเที่ยวระดับชุมชนปีละหลายสิบล้านบาทก็หายไปด้วย เพราะไม่มีพะยูนให้ดู
อ่านข่าวเพิ่ม :
ปชน.เปิดตัว 12 ผู้สมัครนายก อบจ. "ณัฐพงษ์" ไม่กังวล "ทักษิณ" ช่วยหาเสียง