ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทรัมป์อยากซื้อ "กรีนแลนด์" เดิมพันใหญ่ยุทธศาสตร์-เศรษฐกิจอาร์กติก

ต่างประเทศ
21 ม.ค. 68
13:53
0
Logo Thai PBS
ทรัมป์อยากซื้อ "กรีนแลนด์" เดิมพันใหญ่ยุทธศาสตร์-เศรษฐกิจอาร์กติก
โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 47 ได้รื้อฟื้นความสนใจในการซื้อ "เกาะกรีนแลนด์" จุดกระแสถกเถียงเรื่องอธิปไตยและสิทธิการกำหนดอนาคตของเกาะ แม้กรีนแลนด์จะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ แต่การครอบครองเต็มไปด้วยความซับซ้อนทั้งด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ

ต้นเดือน ม.ค.2568 ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของ ปธน.สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเยือนกรีนแลนด์ ท่ามกลางการถกเถียงถึงความตั้งใจของทรัมป์คนพ่อในการซื้อเกาะอาร์กติกแห่งนี้ แม้กรีนแลนด์และเดนมาร์กจะยืนยันว่า "กรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่ซื้อขายได้"

ทำไม "ทรัมป์" อยากครอบครอง "กรีนแลนด์"

The Economic Time ระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาให้ความสนใจ "กรีนแลนด์" อีกครั้ง โดยความสนใจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสำคัญของพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งอยู่เบื้องหลัง

กรีนแลนด์ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งในเขตอาร์กติก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นในยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำแข็งที่ละลายถือเป็นโอกาสใหม่ของภูมิภาคนี้สำหรับเส้นทางการค้าและทรัพยากรธรรมชาติ กรีนแลนด์จึงกลายเป็นจุดสำคัญ สำหรับการเฝ้าติดตามและป้องกันภัยจากประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างรัสเซียและจีน ยิ่งในบริเวณฐานทัพอากาศ Pituffik ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับระบบเตือนภัยขีปนาวุธของสหรัฐฯ

การครอบครองหรือมีอิทธิพลต่อกรีนแลนด์ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการควบคุมและตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาร์กติกได้อย่างทันท่วงที

ที่มา : IG realdonaldtrump

ที่มา : IG realdonaldtrump

ที่มา : IG realdonaldtrump

นอกจากตำแหน่งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์แล้ว กรีนแลนด์ยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ธาตุหายาก เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียว เช่น แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และกังหันลม รวมถึงการผลิตอุปกรณ์ทางการทหาร

ความสามารถในการเข้าถึงแร่ธาตุเหล่านี้จะช่วยลดการพึ่งพาประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่ธาตุหายากรายใหญ่ที่สุดของโลก และมักใช้ทรัพยากรเหล่านี้เป็นเครื่องมือต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง การเข้าถึงทรัพยากรในกรีนแลนด์จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงต่อการถูกกดดันจากจีนในเวทีโลก

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้กรีนแลนด์ดึงดูดความสนใจของทรัมป์ คือ บทบาทของกรีนแลนด์ในฐานะประตูสู่เส้นทางการค้าทางอาร์กติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้น้ำแข็งในอาร์กติกละลายเร็วขึ้น เปิดโอกาสให้มีเส้นทางเดินเรือใหม่ที่ช่วยลดระยะทางการขนส่งระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย

เส้นทางเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง แต่ยังเพิ่มความสำคัญของกรีนแลนด์ในเชิงยุทธศาสตร์ทางการค้า เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางเหล่านี้มากที่สุด ทำให้การควบคุมหรือสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกรีนแลนด์สามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบทบาทของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การเปิดเส้นทางการค้าใหม่ยังเพิ่มความซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์ในเขตอาร์กติก ซึ่งสหรัฐฯ ต้องแข่งขันกับทั้งรัสเซียและจีนในการสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้

รู้จัก "กรีนแลนด์" 

กรีนแลนด์เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ระหว่างอเมริกาเหนือและยุโรป ในอดีต ดินแดนนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรดาโน-นอร์เวย์ และตกเป็นอาณานิคมของเดนมาร์กหลังการแยกตัวของนอร์เวย์ในปี 2357

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กรีนแลนด์มีบทบาทสำคัญ เมื่อเดนมาร์กถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมนีในปี 2483 ทำให้สหรัฐฯ เข้ามาจัดตั้งฐานทัพเพื่อป้องกันไม่ให้ดินแดนนี้ตกไปอยู่ในมือฝ่ายอักษะ หลังสงครามสิ้นสุด เดนมาร์กกลับมาควบคุมกรีนแลนด์อีกครั้ง แต่เริ่มเผชิญความไม่พอใจจากประชาชนกรีนแลนด์ เนื่องจากการปกครองจากระยะไกลที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการของชาวเกาะ

ในปี 2496 กรีนแลนด์ถูกรวมเข้ากับราชอาณาจักรเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ และประชาชนได้รับสถานะเป็นพลเมืองเดนมาร์ก แต่การเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพเริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นำไปสู่การจัดตั้ง "การปกครองตนเอง" ในปี 2522 ซึ่งมอบสิทธิในการจัดการกิจการภายในประเทศให้แก่กรีนแลนด์ ขณะที่เดนมาร์กยังคงควบคุมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง

เสียงจากกรีนแลนด์

มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรี ผู้นำกรีนแลนด์แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าดินแดนนี้ไม่ใช่สินค้าที่จะซื้อขายได้ 

กรีนแลนด์เป็นของชาวกรีนแลนด์ อนาคตของเรา การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของเรา เป็นเรื่องของเราเอง

กรีนแลนด์มีความฝันที่จะเป็นเอกราชเต็มรูปแบบ และได้เริ่มดำเนินการวางรากฐานเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ปัจจุบันยังคงพึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากเดนมาร์ก ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 521 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี หากตัดขาดจากเงินทุนนี้ กรีนแลนด์อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ในฐานะที่เดนมาร์กยังคงควบคุมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของกรีนแลนด์ รัฐบาลเดนมาร์กมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกาะนี้ นายกฯ เดนมาร์ก เม็ตเต เฟรเดอริคเซน ยืนยันว่า "กรีนแลนด์เป็นของชาวกรีนแลนด์" และเรียกร้องให้เคารพสิทธิของกรีนแลนด์ในการกำหนดอนาคตของตนเอง

หากสหรัฐฯ ต้องการซื้อกรีนแลนด์ จะพบอุปสรรคทางกฎหมายและการทูตที่ใหญ่หลวง กฎหมายระหว่างประเทศสนับสนุนสิทธิการกำหนดอนาคตของตนเอง และกฎบัตรสหประชาชาติรับรองสิทธิของประชาชนในการตัดสินใจอนาคตของพวกเขา การที่สหรัฐฯ จะเข้ามามีบทบาทในกรีนแลนด์ จะต้องผ่านการเจรจากับทั้งเดนมาร์กและกรีนแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกรีนแลนด์ตัดสินใจแยกตัวเป็นเอกราชในอนาคต

แม้ทรัมป์จะมองว่ากรีนแลนด์เป็น "ดีลอสังหาริมทรัพย์" ที่มีศักยภาพสูง แต่ความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ การเมือง และสิทธิของประชาชน ทำให้แผนนี้เป็นไปได้ยาก อนาคตของกรีนแลนด์ยังคงขึ้นอยู่กับความพยายามของประชาชนในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและกำหนดทิศทางของตนเอง

อ่านข่าวอื่น :

ยุคทรัมป์ 2.0 เริ่มเปิดศึก "เนรเทศผู้อพยพ" ครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ

เมื่อ "ทรัมป์" ถอนตัว "ข้อตกลงปารีส" โลกจะเดือดขึ้นหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง