ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทียบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "เพื่อไทย-ประชาชน"

การเมือง
13 ก.พ. 68
10:56
975
Logo Thai PBS
เทียบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "เพื่อไทย-ประชาชน"
อ่านให้ฟัง
04:28อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันที่ 13-14 ก.พ.2568 การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

อ่านข่าว : ถ่ายทอดสด ประชุมรัฐสภาถกแก้รัฐธรรมนูญ 13-14 ก.พ.68

ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่มีการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องติดตามและลุ้นว่าร่างทั้ง 2 ฉบับ คือร่างของพรรคเพื่อไทยกับร่างของพรรคประชาชน จะผ่านด่านแรกวาระรับหลักการหรือไม่

โดยทั้ง 2 ร่างยังมีเนื้อหาที่ต่างกันอยู่ เช่น ความต่างที่ว่าร่างหนึ่งให้เขียนได้ใหม่หมด กับอีกร่างกำหนดห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 และที่มา-สัดส่วน ส.ส.ร.ยังต่างกัน

รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน จะมีโอกาสเกิดอีกครั้งได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติของรัฐสภาในวันที่ 14 ก.พ.นี้ หากรัฐสภาไม่รับหลักการร่าง เท่ากับว่าปิดประตูที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป เทียบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน หลักการเหมือนกันคือคลายล็อก มาตรา 256 เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเพิ่มหมวด 15/1 จัดทำฉบับใหม่ที่ชื่อว่าเป็นฉบับของประชาชน เพียงต่างในเนื้อหาขั้นตอนกระบวนการรายละเอียด

ประเด็นแรกการแก้มาตรา 256 ร่างฯ เพื่อไทยแก้เสียงเห็นของเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของ 2 สภา ส่วนร่างฯ พรรคประชาชนใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง และต้องมี สส. จำนวน 2 ใน 3 เห็นชอบด้วย หรือ จำนวน 334 คนขึ้นไป ซึ่งฉบับปี 2560 กำหนดใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งและต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเห็นด้วย

ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. ร่างฯ เพื่อไทยกำหนดให้ ส.ส.ร.200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด จากนั้นให้ ส.ส.ร.ตั้งกรรมาธิการเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดตามสัดส่วน มาจาก ส.ส.ร.24 คน อีก 23 คนมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย-ด้านรัฐศาสตร์ -ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ -พรรคการเมือง-วุฒิสภา-ครม.เสนอ

ขณะที่ร่างฯ พรรคประชาชนกำหนดมาจากการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้ง 100 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมาจาก ส.ส.ร.จำนวน 2 ใน 3 หรือ มาจำนวน 30 คน

ร่างพรรคเพื่อไทยกำหนดให้ ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนร่างของพรรคประชาชนให้ร่างขึ้นใหม่ได้ทั้งฉบับ ทำให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน หากไม่เสร็จส่งไม่ต่อให้รัฐสภาดำเนินการ โดยเจ้าของผู้เสนอร่างฯ ทั้ง 2 ฉบับต่างหวังว่ารัฐสภาจะรับหลักการ

อ่านข่าว : เปิดไทม์ไลน์เขียน รธน. ใหม่ เทียบแก้ ม.256 ฉบับ พท. – ปชน.

ซึ่งตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ ขณะนี้มี 692 คน กึ่งหนึ่งคือ 346 คนขึ้นไป และในจำนวนนี้ต้องมีเสียง สว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา หรือ จำนวน 67 คนขึ้นไป

สำหรับจำนวนเสียงสมาชิกรัฐสภาขณะนี้ มี สส.จำนวน 493 คน โดยแบ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 322 คน และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 171 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่ปฏิบัติหน้าที่มีจำนวน 199 คน ต้องลุ้นกันว่าความพยายามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภาค 2 นี้จะฝ่าอรหันต์-ด่านหินทางการเมืองได้หรือไม่

อ่านข่าว :

"ภูมิใจไทย" ไม่ร่วมสังฆกรรม แก้​ รธน.พรุ่งนี้

"วุฒิสภา" เปิดให้ สว.ลงชื่ออภิปราย ร่าง รธน.13-14 ก.พ.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง