กสม.ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงต่อ พระภิกษุ ผู้นำศาสนา ประชาชน ในจังหวัดชายแดนใต้
วันนี้ (27 ก.ค.2558) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงต่อ พระภิกษุ นักบวช ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ของรัฐ สตรี ผู้สูงอายุ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อ พระภิกษุ นักบวช ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ของรัฐ
สตรี ผู้สูงอายุ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 กรณีมีคนร้ายลอบวางระเบิดชุดรักษาความปลอดภัยพระภิกษุสงฆ์บริเวณตลาดเก่า ถนนริมแม่น้ำสายบุรี หลัง สภ.สายบุรี เขตเทศบาล ตำบลตะลูบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีพระภิกษุสงฆ์มรณภาพ 1 รูป ขณะออกบิณฑบาตตามปกติทุกวันในตอนเช้า ทหารผู้กล้าเสียชีวิตจำนวน 1 นาย ซึ่งเป็นทหารชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยพระสงฆ์ และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นทหาร ผู้สูงอายุ ประชาชน จำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น ดังปรากฏเป็นข่าวแล้ว นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อ ผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงครอบครัวของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนมีความห่วงใยใน สวัสดิภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ขอส่งกำลังใจไปยังพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
กสม. ขอยืนยันว่าหลักการสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดต่อชีวิต ผู้อื่นได้ ไม่ว่ากรณีใด และขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่โหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรม ป่าเถื่อน ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุด และขัดต่อหลักมนุษยธรรมซึ่งเป็นหลักสากลที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือ อีกทั้งห้วงระยะเวลาที่ก่อความไม่สงบ เกิดขึ้นในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ออกบิณฑบาตตามหลักทางศาสนา โดยผู้ที่เสียชีวิตเป็นพระภิกษุสงฆ์ และเจ้าหน้าที่ทหาร ต่างเป็นผู้บริสุทธิ์
กสม. ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและปกป้องหลักการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อันจะละเมิดมิได้ และเพื่อให้เกิด ความสงบเรียบร้อยอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุข จึงขอเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติดังนี้
1. กสม. ขอให้ทุกฝ่ายร่วมส่งกำลังใจไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
2. ขอให้กำลังใจแก่ทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่จะร่วมมือกันดูแลระมัดระวัง และรักษาความปลอดภัย รวมถึงต้องขอชื่นชมหน่วยงานความมั่นคงที่ได้เพิ่มมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้มงวด รัดกุมให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ สตรี ผู้เป็นตัวแทนของศาสนา และประชาชน ผู้บริสุทธิ์ ต้องได้รับการปกป้อง และคุ้มครอง ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ด้วยความร่วมมือของภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และทำให้ความสงบสุขในพื้นที่กลับคืนมา
3. รัฐบาล กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคง ต้องเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว และรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ
4. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ความเสียหาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัวจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์และติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ อีกทั้งจะดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ด้วยความร่วมมือของภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ในทุกๆ ด้านให้กลับคืนมา พร้อมเร่งเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว อีกทั้งขอวิงวอน ผู้ที่หลงผิดให้ยุติการกระทำความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้เป็นตัวแทนของศาสนา และขอให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อนำความสงบและสันติสุขคืนสู่ประเทศไทย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
27 กรกฎาคม 2558