ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันนี้ "ฮิลลารี" เยือนพม่าดูท่าทีจริงใจปฏิรูปประชาธิปไตยหรือไม่

ต่างประเทศ
1 ธ.ค. 54
01:58
21
Logo Thai PBS
วันนี้ "ฮิลลารี" เยือนพม่าดูท่าทีจริงใจปฏิรูปประชาธิปไตยหรือไม่

วันนี้ ( 1ธ.ค.) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐจะหารือกับประธานาธิบดีของพม่า ซึ่งถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปีที่ผู้แทนระดับสูงจากสหรัฐเยือนพม่าวัตถุประสงค์เพื่อดูท่าทีของรัฐบาลพม่าว่า มีความจริงใจในการปฏิรูปไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่

นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเดินทางถึงสนามบินในกรุงเนปิดอว์ช่วงเย็นของเมื่อวานนี้ โดยในวันนี้มีกำหนดการณ์เข้าพบหารือกับ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีของพม่า จากนั้นจะเดินทางไปที่นครย่างกุ้งเพื่อหารือกับนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้าน

ก่อนที่จะเดินทางมาพม่านางคลินตัน ได้กล่าวถึงการเยือนพม่าในครั้งนี้เพื่อดูความมุ่งมั่นของรัฐบาลพม่าในการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ โดยจะเจรจาให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองซึ่งคาดว่ามีประมาณ 500 - 1,600 คน รวมถึงให้ยุติความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพเร่ร่อนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่

อีกประเด็นหนึ่งที่สหรัฐกังวลคือเรื่องที่พม่าร่วมมือกับเกาหลีเหนือในโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนางคลินตัน จะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกับรัฐบาลพม่าด้วย เจ้าหน้าที่ของสหรัฐคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสหรัฐจับตาดูเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและยังไม่เห็นสัญญานใดๆ ว่าพม่ากำลังพัฒนาโครงการนิวเคลียร์

ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเรือพิฆาตของสหรัฐได้สกัดเรือบรรทุกสินค้าของเกาหลีเหนือบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเรือต้องสงสัยว่าบรรทุกชิ้นส่วนของขีปนาวุธไปยังพม่า ขณะที่สหประชาชาติเผยแพร่รายงานของเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ระบุว่าเกาหลีเหนือได้ส่งอุปกรณ์นิวเคลียร์และขีปนาวุธไปยังพม่า,อิหร่าน และ ซีเรีย

 
โดยการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของรัฐบาลพม่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเปิดเจรจากับนางซูจี ออกกฏหมายที่เปิดทางให้มีการตั้งสหภาพแรงงานและสามารถจัดการชุมนุมได้ รวมถึงการระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนที่ถูกประชาชนคัดค้าน ทำให้ผู้นำของอาเซียนเห็นชอบให้พม่าทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปี 2557 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า อดีตนักการทูตของชาติยุโรปคนหนึ่งบอกว่า มติของอาเซียนในครั้งนี้ถือเป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่มีเหตุผลมากเพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้พม่าได้ลองเป็นประธานอาเซียนสักครั้ง

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่จับตาดูการเปลี่ยนแปลงในพม่า นั่นคือชาวพม่าพลัดถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กำลังติดตามสถานการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลพม่าในครั้งนี้ เป็นเรื่องจริงหรือเป็นการจัดฉาก มีหลายคนบอกว่ายังไม่ค่อยไว้ใจรัฐบาลพม่า ซึ่งทุกวันนี้ยังมีรายงานว่ากองกำลังของรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน บรรดานักการทูตและนักเคลื่อนไหวเห็นตรงกันว่าประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นประเด็นสำคัญที่ชี้วัดว่ารัฐบาลพม่ามีความจริงใจในการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่

นางคลินตันถือเป็นผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐคนแรกในรอบ 56 ปีที่เยือนพม่า โดยผู้แทนระดับสูงคนล่าสุดของสหรัฐที่เยือนพม่าคือนายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศเยือนพม่าเมื่อปี 2498 ทั้งนี้นักวิเคราะห์บางรายมองว่า การเยือนของนางคลินตันในครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อคานอำนาจกับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง