การลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์ เป็นหนึ่งในปัญหาขโมยทรัพย์สินในที่สาธารณะที่ทำให้หลายหน่วยงานต้องปวดหัวและเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการขโมยสายไฟฟ้า มิเตอร์น้ำ หม้อแปลงไฟฟ้า ฝาท่อระบายน้ำ ฯลฯ ที่ดูเหมือนเป็นอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่จริงๆ แล้วสร้างความเสียหายระดับชาติ
นายสมหมาย สุขสุเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักงานขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอที ให้ข้อมูลกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่าสายเคเบิลนอกจากจะเป็นอุปกรณ์สำคัญของการสื่อสารผ่านโทรศัพท์สามารถติดต่อไปได้ทุกที่ แล้วยังให้บริการอินเทอร์เน็ต ADSL ที่มีความเร็วสูงสุดถึง 20 เมกะบิต ซึ่งการลักลอบตัดสายเคเบิลนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพย์สินเป็นเงินจำนวนมากแล้ว ยังส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากทุกครั้งที่มีสายเคเบิลถูกขโมย ประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงส่วนราชการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้
นายสมหมายให้ความเห็นว่า การขโมยสายเคเบิลควรถือเป็น "ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและสังคม" ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง
ตัดระบบการสื่อสาร ปฏิบัติการไม่ถึง 5 นาที
ทีโอทีพบว่าในปี 2557 มูลค่าความเสียหายจากการลักลอยสายเคเบิลของทีโอทีถูกลักลอบตัดทั่วประเทสร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายในเขตกรุงเทพมหานครกว่า 20 ล้านบาท และต่างจังหวัด กว่า 80 ล้านบาท จังหวัดที่มีการลักลอบตัดสายเคเบิลมากที่สุด 5 อันดับ แรกคือ นครปฐม สงขลา สุพรรณบุรี ราชบุรี และขอนแก่น ซึ่งทีโอทีวิเคราะห์ว่าปัญหาลักลอบตัดสายเคเบิลมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ประกอบทองแดงซึ่งเป็นส่วนประกอบของสายเคเบิลนำไปขายได้ราคาดี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากการเก็บข้อมูลของทีโอทีพบว่า กลุ่มมิจฉาชีพโจรกรรมสายเคเบิลแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนในพื้นที่ เช่น เยาวชน ผู้ติดยาเสพติดที่อยู่ในชุมชน แต่ละครั้งจะตัดจำนวนไม่มาก แต่จับกุมได้ยากเพราะรู้จักพื้นที่และเส้นทางการหลบหนี 2.กลุ่มมืออาชีพ ซึ่งจะก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดที่ใกล้เคียงกัน และ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มลูกจ้างของบริษัทรับเหมาที่ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมจ้างมาบำรุงหรือซ่อมแซมระบบ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความชำนาญเพราะเป็นงานที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว
นายสมหมายอธิบายว่า มูลค่าความเสียหายจากการตัดสายเคเบิลจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดของสายเคเบิลและความยาว ซึ่งมักจะถูกตัดครั้งละ 40-60 เมตร หรือประมาณ 1 ช่วงเสาไฟฟ้า มูลค่าความเสียหายแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นเคเบิลขนาดใหญ่ก็จะกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและจะกระทบการสื่อสารในวงกว้าง กล่าวคือ โทรศัพท์-ระบบอินเทอร์เน็ตล่ม ใช้งานไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อผู้ใช้บริการแล้ว ยังทำให้ทีโอทีสูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้าและอาจจะไปใช้บริการของผู้ประกอบการรายอื่น
นายทรงเกียรติ สุวรรณนุ่ม ผู้จัดการส่วนบริหารลูกค้านครหลวงที่ 4.2.3 บริษัท ทีโอที กล่าวว่าการโจรกรรมทรัพย์สินของรัฐเพิ่มมากขึ้นไม่ใชแค่เฉพาะสายเคเบิล แต่รวมไปถึงทรัพย์สินสาธารณะอื่นๆ เช่น สายไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า ป้ายต่างๆ ทำให้แต่ละปีภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อจัดซื้อและนำมาติดตั้งทดแทน อีกทั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
"มิจฉาชีพเหล่านี้ไม่ต้องใช้ความรู้หรือความชำนาญอะไรพิเศษ บางครั้งปีนเสาขึ้นไปตัดใช้เวลาเพียง 3-5 นาที มิจฉาชีพมักจะก่อเหตุในเวลากลางคืน ในจุดที่เปลี่ยว ลับตาคน หรือบางครั้งก่อเหตุในย่านชุมชนโดยทำทีเป็นเจ้าหน้าที่มาตรวจเช็คหรือซ่อมบำรุง ทำให้ประชาชนไม่สงสัย หลังจากนั้นก็จะนำทองแดงไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่พบการลักลอบตัดสายเคเบิลมากที่สุดจะอยู่ในพื้นที่ถนนเกษตร-นวมินทร์ เนื่องจากค่อนข้างเปลี่ยว
"พอเราติดตั้งสายเคเบิล เขาก็ไปตัด พอตัดแล้วเราก็ต้องไปซ่อมแซม เอาวัสดุไปติดตั้งทดแทน รายได้จากเศษทองแดงที่เขาเอาไปขาย เทียบไม่ได้เลยกับงบประมาณที่เสียไป" นายทรงเกียรติกล่าว
สำหรับมาตรการในการป้องกัน ทีโอทีได้ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยในจุดเสี่ยงที่จะมีการลักขโมยสายเคเบิลโทรศัพท์ เมื่อมีการตัดสายเคเบิลจะมีสัญญาณแจ้งเหตุไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือหน่วยงานท้องถิ่น แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่ก็มักจะจับผู้กระทำความผิดไม่ได้ โดยที่ผ่านมาจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของการก่อเหตุเท่านั้น นายทรงเกียรติกล่าวและเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันดูแลทรัพย์สินสาธารณะเนื่องจากทีโอที ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มความเอาจริงเอาจังในการสืบหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
ตำรวจกวดขันร้านรับซื้อของเก่า
ทางด้าน พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีสวัสดิ์ ผกก.สน.ลาดพร้าว ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบว่ามีการลักลอบตัดสายเคเบิลระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีสายตรวจคอยออกตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง และถ้ามีประชาชนพบเห็นการลักขโมยก็แจ้งเบาะแสมาที่ตำรวจได้ทันที และขอให้ประชาชนช่วยสอดส่องดูแลด้วย
พล.ต.ต.พจน์ บุญมาภาคย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่ติดอันดับโจรขโมยสายเคเบิลชุกชุมที่สุด ให้สัมภาษณ์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประชุมหารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลในพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ได้กำชับให้มีการกวดขันกับร้านรับซื้อของเก่าว่ามีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และสิ่งของที่รับซื้อมีที่มาที่ไปชัดเจนหรือไม่
"ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานกับผู้เสียหายหรือบริษัท ทีโอที ในการที่จะหาแนวทางป้องกันการก่อเหตุลักลอบตัดสายเคเบิล และขอความร่วมมือร้านรับซื้อของเก่าตรวจสอบที่มาที่ไปของผู้ที่นำมาขายด้วยว่าได้มาโดยสุจริตหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้แจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่ทันที" พล.ต.ต.พจน์ กล่าว
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 ระบุว่าร้านค้าของเก่าจะต้องมีใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่า ผู้ประกอบการประกอบการรายใดที่รับซื้อของโจรจะมีความผิดทางอาญา
ขณะที่ร้านรับซื้อของเก่าแห่งหนึ่งย่านปทุมธานี ให้ข้อมูลว่า ทางร้านมีการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับลูกค้าที่จะนำของมาขายที่ร้าน โดยการขอบัตรประชาชนชน แต่ถ้าเป็นจำนวนไม่เยอะก็จะแค่ถามที่มาที่ไป แต่ถ้าเป็นจำนวนเยอะก็จะขอให้แสดงหลักฐานอื่นประกอบด้วย
เรียกร้องเพิ่มโทษ ขโมยทรัพย์สินของรัฐ
เมื่อยังไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลได้ ทางทีโอทีจึงหาทางป้องกันดยการติดสัญญาณกันขโมย รวมทั้งปรับชุมสายให้มีขนาดเล็กลงโดยการแบ่งเป็นชุมสายย่อยๆ ในพื้นที่เพื่อใช้สายเคเบิลที่มีขนาดเล็กลงลดความสูญเสียในกรณีที่ถูกตัดสาย และในอนาคตจะเปลี่ยนมาใช้สายเคเบิลใยแก้วเพื่อนำมาใช้ทดแทนสายเคเบิลทองแดงในบางพื้นที่ แต่จะใช้เงินลงทุนที่สูงกว่า รวมทั้งใช้วิธีติดตั้งที่ป้องกันไม่ให้คนมาตัดได้ นายสมหมาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักงานขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 ทีโอที กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมยังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ( สตช.) ขึ้นทะเบียนสายเคเบิลทองแดงเป็นสินค้าควบคุมห้ามซื้อขายที่ร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลนำไปจำหน่าย รวมทั้งร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในการจัดทีมเฝ้าระวัง
"อยากให้เพิ่มบทลงโทษและกฎหมายให้แรงกว่านี้ โดยให้ถือว่าทรัพย์สินส่วนนี้เป็นของราชการ ถ้าถูกลักขโมยหรือเสียหายไปก็คือของหลวง" นายสมหมาย กล่าวพร้อมกับเสนอให้หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการลักขโมยทรัพย์สินยกระดับปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติในเรื่องอาญากรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ และกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอย่างจริงจัง เป็นระบบและต่อเนื่อง
รายงานพิเศษโดย ยไมพร คงเรือง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์