ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คุณภาพชีวิต พนง.ขสมก.ย่ำแย่ เผชิญความเครียด-หนี้สิน-ทำงานล่วงเวลา

สังคม
6 พ.ย. 58
03:48
472
Logo Thai PBS
คุณภาพชีวิต พนง.ขสมก.ย่ำแย่ เผชิญความเครียด-หนี้สิน-ทำงานล่วงเวลา

นอกจากต้องอยู่บนท้องถนนและเผชิญกับสภาพรถติดเป็นเวลานานร่วมหลายชั่วโมงในแต่ละวันแล้ว การที่ต้องทำงานเกินเวลาตามที่กำหนดอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมงของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ส่งผลต่อสุขภาพและสร้างความเครียดสะสมไม่น้อย ขณะที่ระบบสวัสดิการ หากไปดูยังพบว่าไม่สอดรับตามสภาพความเป็นจริงของการทำงาน

ความเครียดเป็นสิ่งหนึ่งที่พนักงานขับรถ ขสมก.ต้องเผชิญแทบทุกวันบนท้องถนน และเป็น 1 ปัจจัยที่มีผลเสียต่อสุขภาพ เดือน พ.ย.นี้ ภัคพล วัดโส พนักงานขับรถ ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาเข้าเวร แม้ตามระเบียบของ ขสมก.ระบุว่าพนักงานขับรถควรทำงานใน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ด้วยสภาพการจราจรติดขัด และจำนวนพนักงานไม่เพียงพอ ทำให้พนักงานหลายคนไม่สามารถพักหรือเลิกงานตามเวลาที่กำหนด และต้องทำงานเกินเวลาเฉลี่ยคนละ 12 ชั่วโมง

ภัคพล กล่าวว่า มีบ่อย เพราะว่าสายงานจะรู้ว่าคนนี้ขอลากันมาก ลาพักร้อน หรือลาพักผ่อนประจำปี สายงานจะโทรไปบอกว่ามาช่วยแทนหน่อยนะ และไปหยุดวันอื่น 

ปัญหาหนี้สินเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ อัจฉรา วัดโส พนักงานเก็บค่าโดยสารหญิงยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทุกวันนี้เธอต้องทำงานมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการใช้หนี้สินในแต่ละเดือน จึงต้องการให้มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำการบริหารจัดการหนี้สิน

อัจฉรา กล่าวว่า อยากให้มีคนมาช่วยด้านนี้บ้าง มาช่วยเรื่องเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยน้อย และผ่อนระยะยาว

สอดคล้องกับผลวิจัยสำรวจสถานะสุขภาพของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ระบุว่า พนักงาน ขสมก.ร้อยละ 85 มีภาระหนี้สินจากแหล่งเงินกู้ในระบบ พนักงานขับรถและพนักงานสายตรวจส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน 

ส่วนสภาพปัญหาจากการทำงาน เครียดสะสม กินข้าวและนอนไม่เป็นเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ ถูกคุกคามทางเพศ และพนักงานเกินครึ่งมีโรคประจำตัวทั้งความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือด โรคหัวใจ และโรคข้อเสื่อม

พนักงาน ขสมก.เรียกร้องให้จัดสวัสดิการจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล เพื่อลดภาระให้กับพนักงาน ปรับปรุงระบบตรวจสุขภาพประจำปีให้พนักงานรับบริการอย่างทั่วถึง จัดร้านค้าสวัสดิการ ห้องน้ำอย่างเพียงพอ และอบรมให้ความรู้การบริหารจัดการหนี้สิน

อรพินธุ์ แทนทอง ผู้จัดทำผลงานวิจัยสุขภาพ พนักงาน ขสมก.กล่าวว่า ทุกอย่างที่เรียกร้องไป ถ้าได้รับการแก้ไข มั่นใจว่าจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติงานที่ดี และพนักงานจะมีขวัญกำลังใจในการทำงาน

ผลงานวิจัยครั้งนี้รวบรวมจากพนักงานทุกเขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงของพนักงาน ขสมก. และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสวัสดิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้น นำไปสู่การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง