โคเด็กซ์ เร่งกำหนดปริมาณ “สารหนู” ในข้าว ปกป้องผู้บริโภคทั่วโลก
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากการปนเปื้อนของสารหนู (Arsenic) ในข้าว เป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศ คณะกรรมการโคเด็กซ์สาขาสารปนเปื้อน (Codex Committee on Contaminants in Foods) จึงได้กำหนดค่าปริมาณปนเปื้อนสูงสุด (Maximum Level; ML) ของสารหนูในข้าว พร้อมจัดตั้งคณะทำงานที่มีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแกนนำ เพื่อลดการได้รับสัมผัสจากสารหนูในข้าวหรือผลิตภัณฑ์จากข้าว ซึ่งจากการรวบรวมเอกสารข้อมูลการปนเปื้อนของสารหนูในข้าว และวิธีวิเคราะห์สารหนูทั้งหมดและสารหนูอนินทรีย์ที่มีการใช้ในแต่ละประเทศ พบว่า สารหนูอนินทรีย์มีความเป็นพิษมากกว่าสารหนูทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังและมะเร็งปอด ปริมาณสารหนูในข้าวขึ้นอยู่กับน้ำบาดาลที่ใช้และการตกค้างของสารหนูในดิน
สำหรับการปนเปื้อนของสารหนู พบค่าเฉลี่ยของปริมาณสารหนูทั้งหมดไม่เกิน 0.3 mg/kg แต่ค่าสูงสุดที่พบ คือ 5.71 mg/kg สำหรับสารหนูอนินทรีย์ ค่าเฉลี่ยที่พบ คือ 0.2 mg/kg ค่าสูงสุดที่พบ คือ 1.88 mg/kg โดยมีสัดส่วนของสารหนูอนินทรีย์ต่อสารหนูทั้งหมดอยู่ในช่วง 10-93% ซึ่งมีข้อเสนอของคณะทำงานจะกำหนดค่า ML ของสารหนูทั้งหมดหรือสารหนูอนินทรีย์ในข้าวที่ 0.3 mg/kg ขณะเดียวกันยังระบุว่า การวิเคราะห์สารหนูอนินทรีย์เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์
“รายงานการศึกษายังระบุด้วยว่า ข้าวกล้องจะมีปริมาณสารหนูสูงกว่าข้าวขัดสี การล้างทำความสะอาดข้าวก่อนการหุงจะช่วยลดปริมาณสารหนูได้โดยเฉพาะสารหนูอนินทรีย์ อย่างไรก็ตาม หากน้ำที่ใช้มีการปนเปื้อนสารหนูจะทำให้พบปริมาณสารหนูเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณสารหนูในข้าว คือ อัตราการใช้น้ำ สายพันธุ์ข้าว และการจัดการดิน ทั้งนี้ หากควบคุมหลังการเก็บเกี่ยวในเรื่องการสีรำข้าวออกจะช่วยลดปริมาณสารหนูได้” นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าว
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าวด้วยว่า มกอช.ได้ดำเนินการศึกษาปริมาณสารหนูในข้าวเบื้องต้น จำนวน 50 ตัวอย่าง ซึ่งวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการของสถาบันอาหาร พบว่า ค่าสารหนูทั้งหมดในข้าวขาวและข้าวกล้อง ไม่เกิน 0.3 mg/kg และค่าสารหนูอนินทรีย์ ไม่เกิน 0.2 mg/kg เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกการกำหนดค่า ML ตามข้อเสนอของคณะทำงาน ข้าวของไทยก็ยังมีปริมาณไม่เกินค่าที่จะกำหนด
ขณะนี้ มกอช.ได้เร่งเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์สาขาสารปนเปื้อนครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดในเดือนมีนาคม 2555 นี้ หากจะพิจารณาการกำหนดปริมาณสารหนูอนินทรีย์ จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลการปนเปื้อนของสารหนูอนินทรีย์ในข้าวเปลือก และข้าวขัดสีจากหลายประเทศ ทั้งยังควรเสนอคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาวิธีวิเคราะห์และชักตัวอย่าง (Codex Committee on Methods of Analysis and Sampling) กำหนดวิธีวิเคราะห์ปริมาณสารหนูอนินทรีย์ในข้าวที่เป็นวิธีมาตรฐานก่อน พร้อมเสนอให้พิจารณาการจัดทำวิธีปฏิบัติและการจัดการเพาะปลูก เพื่อลดการปนเปื้อนก่อนการกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารหนูในข้าวด้วย