น้อมนำพระราชดำรัส ปรับแผนบริหารน้ำ
ความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานเรื่องการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการวางแผน เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ
นอกจากทรงห่วงใยเรื่องการปลูกป่าที่ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ได้ยากแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือการบริหารจัดการน้ำให้มีความสมดุลกันระหว่างน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงทรงมีพระวินิจฉัยถึงการระบายน้ำของคลองฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ที่ควรต้องเร่งดำเนินการหาช่องทางให้น้ำผ่านลงทะเล โดยสามารถทำแก้มลิงสำหรับช่วยระบายน้ำได้ เพื่อรองรับน้ำที่อาจมีปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงที่น้ำทะเลหนุน และในช่วงที่น้ำลงก็สามารถระบายน้ำจากแก้มลิงลงสู่ทะเลได้ทันที
หลังมีพระราชดำรัสคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.ได้เตรียมการในการทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำใหม่ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยภายในสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมคณะกรรมการ กยน. เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ เช่น มาตรการการระบายน้ำออกจากเขื่อนหลัก แนวทางการปลูกป่าที่จะปลูกไม้เนื้อแข็ง ผสมผสานกับไม้เนื้ออ่อน และแนวทางการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงการปรับการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำ โดยระบุว่า รัฐบาล และ กยน.ได้น้อมนำกระแสพระราชดำริไปดูเพื่อที่จะให้แน่ใจว่า การบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงหลักความสมดุลของธรรมชาติ การระบายน้ำในเขื่อนก็ต้องมีการระบายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เร่งระบายจนน้ำท่วม หรือไม่ระบายเลย สุดท้ายแล้วก็ระบายน้ำไม่ทัน และน้ำที่ระบายออกมาต้องนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมให้มากที่สุด
ทั้งนี้ รัฐบาลจะนำแผนทั้งหมดไปปรับบูรณาการอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการลงพื้นที่ไปทำในรายละเอียด การติดตาม การสั่งการในแต่ละกระทรวง และเร่งกำหนดผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กนอช. เพื่อบริหารจัดการให้เป็นเอกภาพ และการเร่งทำศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ ที่จะบูรณาการข้อมูลน้ำให้มาจากแหล่งเดียว และจะไม่มีปัญหาความไม่ลงตัวของหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาเหมือนที่ผ่านมา