มูลนิธิอิสรชน ระบุตัวเลขคนเร่ร่อนสูงขึ้น จี้รัฐเร่งออก พ.ร.บ.คนไร้ที่พึ่ง
นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน องค์กรรณรงค์สิทธิคนชายขอบในสังคมเมือง เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทั้งกลุ่มคนเร่ร่อน-ไร้ บ้าน และผู้ป่วยข้างถนนทั้งโรคสมองเสื่อมและโรคทางจิตเวช โดยใช้วิธีการสำรวจเชิงปริมาณและลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต และอ้างอิงข้อมูลพื้นฐานบ้านมิตรไมตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า จากการสำรวจจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรุงเทพฯ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี เมื่อปี 2553 มีจำนวน 2,451 คน ส่วนในปี 2554 มีจำนวน 2,561 คน เพิ่มขึ้น 4.2% แบ่งเป็นผู้ชาย 1,630 คน ผู้หญิง 931 คน เมื่อแยกตามประเภทผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ พบว่ามีกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านมากที่สุด รองลงมาเป็นคนติดสุรา คนหลับนอนชั่วคราว ผู้ป่วยข้างถนนและคนจนเมือง เขตที่มีจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ เขตพระนคร 472 คน รองลงมา เขตบางซื่อ 258 คน เขตจตุจักร 207 คน เขตปทุมวัน 182 คน และเขตสัมพันธวงศ์ 163 คน ส่วนตัวเลขทั่วประเทศมีคนเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน โดยสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังคือ ทุกวันนี้มีผู้ป่วยทั้งทางสมองและจิตตามถนนทุกเส้นทาง และปัญหาคนเร่ร่อนรอบพื้นที่สนามหลวงตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ราย สาเหตุเพราะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานตามสิทธิความเป็นมนุษย์ กรณีเสียชีวิตล่าสุดเพราะเก็บอาหารในถังขยะไปกิน แต่กลับมียาเบื่อหนูปนอยู่ในอาหาร ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตข้างถนน 4 ราย เฉลี่ยเดือนละ 2 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยเดือนละ 1 ราย กลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม