ผู้ใช้แรงงานในอาเซียนรวมตัวทำกิจกรรมในวันแรงงานสากล
ถนนสายหลักในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ แน่นขนัดไปด้วยผู้ใช้แรงงานประมาณ 3,000 คนที่จัดการเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานสากล โดยปีนี้ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือต้องการให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน 125 เปโซหรือประมาณ 87 บาท โดยการขึ้นค่าแรงครั้งล่าสุดคือเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำรายวันของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 426 เปโซหรือประมาณ 294 บาท แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่สามารถรับประกันได้ว่าผู้ใช้แรงงานทุกคนจะได้ค่าแรงขั้นต่ำตามอัตราดังกล่าว เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กต้องปิดกิจการ รวมถึงต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ โดยรัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เช่น การอุดหนุนค่าอาหาร และเชื้อเพลิงเพื่อลดภาระของประชาชน ทั้งนี้ชาวฟิลิปปินส์ 1 ใน 3 อยู่ใต้เส้นขีดความยากจน ปัญหาการว่างงาน, ค่าแรงต่ำ รวมถึงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ เป็นตัวผลักดันให้ชาวฟิลิปปินส์ออกไปหางานทำในต่างประเทศ
ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียถือโอกาสในวันแรงงานสากลกำหนดอัตราค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำเป็นครั้งแรก โดยผู้ใช้แรงงานในภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 900 ริงกิตหรือเกือบ 9,000 บาท ส่วนรัฐซาบาห์ และซาราวัคจะได้เงินเดือนขั้นต่ำ 800 ริงกิตหรือเกือบ 8,000 บาท แต่เลขาธิการสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่พอใจกับอัตราดังกล่าว เนื่องจากทางสหภาพแรงงานเคยเรียกร้องให้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมานาน 15 ปีแล้ว และต้องการค่าจ้างขั้นต่ำ 1,200 ริงกิตหรือเกือบ 12,000 บาท โดยอัตราที่รัฐบาลกำหนดไม่เพียงพอต่อการยังชีพในเมือง ทั้งนี้ รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดว่าจะบังคับใช้อัตราเงินเดือนขั้นต่ำเมื่อไหร่ นายนาจิ๊บ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย กล่าวว่า อาจจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนธุรกิจขนาดเล็กจะมีเวลา 12 เดือนในการปรับตัวให้เข้ากับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำที่ประกาศโดยรัฐบาล
ส่วนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พนักงานของโรงงานทอผ้าประมาณ 3,000 คน เดินขบวนเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างและต้องการปรับปรุงสวัสดิภาพในการทำงาน ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการถูกไล่ที่ถือโอกาสนี้จัดการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาทำงานร่วมกับภาคเอกชน และหามาตรการที่จะช่วยให้ชาวบ้านซึ่งถูกไล่ที่ได้รับเงินชดเชยที่เหมาะสม และห้ามไม่ให้ใช้วิธีการที่ไม่ยุติธรรมในการไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินของตัวเอง
ส่วนที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ใช้แรงงานมากกว่า 50,000 คนไปรวมตัวกันที่สนามกีฬา แต่ระหว่างการเคลื่อนขบวนก็ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากผู้ประท้วงบางกลุ่มได้ปิดถนน พร้อมยื่นข้อเรียกร้องขอให้ขึ้นเงินเดือน, ปรับปรุงสวัสดิภาพในการทำงาน และไม่ต้องการให้มีระบบการทำสัญญาจ้างหรือ "เอ้าท์ซอร์ส"