10 เรื่องน่ารู้ “หมายจับ” ผู้กระทำผิดกฎหมาย


Insight

17 ต.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

10 เรื่องน่ารู้ “หมายจับ” ผู้กระทำผิดกฎหมาย

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1740

10 เรื่องน่ารู้ “หมายจับ” ผู้กระทำผิดกฎหมาย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ข่าวใหญ่ที่ผู้คนทั้งประเทศให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้น กลุ่มธุรกิจ “ดิไอคอนกรุ๊ป” ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ออกหมายจับ” เหล่าผู้บริหารกว่า 18 คน

 Thai PBS รวบรวมเรื่องราว การออกหมายจับ และข้อพึงปฏิบัติที่ควรรู้ มาบอกกัน

1.หากถูกดำเนินคดี สิ่งแรกที่ได้รับคือ “หมายเรียก” 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งหมายเรียกให้กับบุคคลที่จะดำเนินคดี โดยจะส่งไปที่บ้านของบุคคลดังกล่าวตามทะเบียนราษฎร์ ซึ่งจะส่งมากที่สุดเพียงสองครั้ง ถ้าไม่ไปตามนัด จะขอศาลเพื่อออกหมายจับ

2.”หมายจับ” คืออะไร ?

“หมายจับ” คือ หนังสือที่ศาลอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง จับกุมผู้ต้องหา หรือจำเลย ที่กระทำความผิด หรือเชื่อว่าได้กระทำความผิด โดยผู้ที่จะออกหมายจับได้ คือ ศาล เท่านั้น

3.สาเหตุที่ออกหมายจับ ต้องมีลักษณะอย่างไร ?

ตามกฎหมายอาญาในมาตรา 66 ระบุไว้ว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้มีหลัก ๆ 2 ประการ คือ 

  • เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี
  • เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือ จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่อเหตุอันตรายประการอื่น

4.กรณีเป็น “หมายจับปลอม” มีวิธีสังเกตอย่างไร ?

หมายจับที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องออกโดยศาล และมีข้อสังเกต ดังนี้

  • วันเดือนปีที่ออกหมาย ต้องระบุรายละเอียดชัดเจน
  • เหตุที่ออกหมาย ระบุข้อหา ฐานความผิด ตามกฎหมาย
  • สังเกตตัวสะกด รูปประโยค ข้อหา หรือฐานความผิดว่าถูกต้องหรือไม่  หากมีการสะกดตัวอักษรผิดหลายจุด ตัวอักษรและการพิมพ์ไม่สอดคล้องกันตลอดทั้งหมายจับ อาจเข้าข่ายต้องสงสัยว่าเป็น “หมายจับปลอม” 
  • สามารถโทรศัพท์ตรวจสอบไปยังศาล ซึ่งเป็นสถานที่ออกหมาย โดยระบุชื่อ เลขที่หมายจับ วันเดือนปีที่ออกหมาย และเหตุที่ออกหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบว่าเป็นหมายจับที่ออกโดยศาลจริงหรือไม่

5.หมายจับมีอายุการใช้งานเท่าไร ?

ตามกฎหมายอาญา มาตรา 68 หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน

6.หมายจับใช้ภาพถ่ายตามทะเบียนราษฎร์

แต่หากเป็นกรณีการออกหมายจับบุคคลที่ยังไม่รู้จักชื่อ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 67 กำหนดว่า สามารถทำได้ แต่ต้องบอกรูปพรรณของผู้นั้นให้ละเอียดเท่าที่จะทำได้

7.ผู้ที่ถูกหมายจับต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?

หลังจากได้รับหมาย ขั้นตอนต่อมาคือ รับทราบข้อกล่าวหา ส่วนขั้นตอนการเข้าให้ปากคำ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบก่อนเสมอ รวมทั้งพนักงานสอบสวนต้องไม่ทำการใด ๆ ที่เป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ เพื่อจูงใจให้ผู้ต้องหาให้การอย่างใด ๆ 

ในกระบวนการนี้ ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำได้

8.ผู้ที่ถูกออกหมายจับ สามารถทำเรื่องขอประกันตัวได้หรือไม่ ?

ผู้ที่ถูกออกหมายจับ หรือเป็นผู้ต้องหา สามารถยื่นเรื่องขอประกันตัวได้ 3 กรณี 

  1. ขอประกันตัวระหว่างชั้นฝากขัง คือ ขณะเป็นผู้ต้องหายังไม่ได้ถูกสั่งฟ้องคดี
  2. ขอประกันตัวในศาลชั้นต้น คือ กรณีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องได้ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นแล้ว หรือกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเอง ศาลชั้นต้นได้มีการไต่สวนมูลฟ้องและมีการประทับรับฟ้องแล้ว
  3. ขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดอาจมีการขอประกันตัวได้

9.ใครคือผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัว ?

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัว แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย 
  2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง  เช่น บุพการี  ผู้สืบสันดาน  คู่สมรส  ญาติพี่น้อง  ผู้บังคับบัญชา

10.การถูกสั่งขังของผู้ต้องหา มีกี่แบบ?

ตามกฎหมายอาญา มาตรา 87 ระบุเรื่องการสั่งขังผู้ต้องหา ดังนี้

  • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน
  • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน
  • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน

แหล่งข้อมูล

  • ประมวลกฎหมายอาญา
  • ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หมายเรียกหมายจับการออกหมายจับดิไอคอนกรุ๊ปกฎหมาย
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด