“เชื้อแบคทีเรียดื้อยา” ภัยอันตราย “กินยาปฏิชีวนะ” ไม่ถูกต้อง


Logo Thai PBS
แชร์

“เชื้อแบคทีเรียดื้อยา” ภัยอันตราย “กินยาปฏิชีวนะ” ไม่ถูกต้อง

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1743

“เชื้อแบคทีเรียดื้อยา” ภัยอันตราย “กินยาปฏิชีวนะ” ไม่ถูกต้อง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ยาปฏิชีวนะ หากใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นยาวิเศษ หากใช้แบบผิด ๆ ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะเหตุใดยาปฏิชีวนะจึงเป็นดาบสองคม

คำตอบก็คือการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา (Antibiotic Resistance) ขึ้นนั่นเอง ซึ่งเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเหล่านี้เองอาจมีความรุนแรงถึงขั้นไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะใด ๆ เลย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซูเปอร์บัก” (Superbug)

อาจจะฟังดูย้อนแย้ง แต่รู้หรือไม่ว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเกิดขึ้นจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง


การทดสอบยาปฏิชีวนะบนจานเพาะเชื้อแบคทีเรีย


ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) นั้นมีหลายชนิด ซึ่งจัดได้เป็นกลุ่ม ๆ (Family)  เช่น กลุ่ม Penicillin ที่ประกอบไปด้วยยาอย่าง Amoxicillin หรือ Ampicillin กลุ่ม Tetracyclines ที่ประกอบไปด้วยยาอย่าง Tetracycline, Doxycycline, และ Minocycline เป็นต้น ยาในกลุ่มเดียวกันมักจะใช้กลไกในการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกัน แต่มีโครงสร้างทางยาที่แตกต่างกัน ทำให้อาจมีการดูดซึมและการกระจายตัวแตกต่างกัน ซึ่งในทางเภสัชวิทยาเรียกว่า เภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics)


การทดสอบยาปฎิชีวนะกับเชื้อที่ดื้อยา จะเห็นได้ว่าในจานด้านขวา เชื้อบางกลุ่มไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะและโตได้แม้จะอยู่ในบริเวณที่มียาปฏิชีวนะอยู่


ยาปฏิชีวนะแต่ละกลุ่มนั้นมีเป้าหมายหรือออกฤทธิ์ต่อเชื้อแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามยาปฏิชีวนะในกลุ่มเดียวกันมักสามารถใช้แทนกันได้ (แต่ไม่เสมอไป) ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ ในบางครั้ง การติดเชื้ออาจไม่สามารถทราบได้ว่าติดเชื้อแบคทีเรียอะไรอยู่ จนกว่าจะมีการตรวจทางเทคนิคการแพทย์อย่างละเอียด

ดังนั้นการรักษาเบื้องต้นหากแพทย์สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ การให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง (Broad-spectrum antibiotic) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการเติบโตหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ๆ พร้อมกันแบบไม่เฉพาะเจาะจง เหมาะแก่การใช้งานเมื่อแพทย์ไม่ทราบว่าผู้ป่วยกำลังติดเชื้อด้วยเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ใด

การติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมักหายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างตามที่แพทย์สั่งโดยไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งที่เรียกว่ายาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์แคบ (Narrow-spectrum antibiotic) ซึ่งมักจะมีความเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแบคทีเรีย


แผนผังแสดงการทดสอบประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ


ในกรณีติดเชื้อแบคทีเรียแบบไม่รุนแรง แพทย์มักจะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างโดยไม่ได้ตรวจทางพยาธิวิทยาต่อว่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวคือเชื้ออะไร เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างมักจะได้ผล อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นติดเชื้อรุนแรง อาจมีการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อหาเชื้อต้นตอและอาจมีการสลับไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์แคบหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง

สังเกตว่าเมื่อแพทย์สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ แพทย์จะระบุว่าจะต้องรับประทานยาให้หมดและมักจะสั่งจ่ายเป็นระยะเวลาขั้นต่ำ 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ไม่มีการสั่งจ่ายเพียงวันสองวัน เพื่อป้องกันกลไกการคัดเลือกตามวิวัฒนาการ (evolutionary selection) ที่มักเป็นต้นเหตุของการดื้อยา การใช้ยาปฏิชีวนะให้นานพอนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคดังกล่าวตายจนหมด ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียที่เหลือรอดอยู่เนื่องจากมีความต้านทานยาปฏิชีวนะในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอที่จะมีชีวิตรอดได้นาน หากเชื้อเหล่านี้ไม่ตายจนหมด เชื้อเหล่านี้ก็จะเริ่มเติบโตอีกครั้งและกลายเป็นกลุ่มเชื้อโรคที่มีความต้านทานต่อยามากขึ้นจากการปรับตัว จนท้ายที่สุดก็อาจจะกลายเป็นเชื้อที่ดื้อยาโดยสมบูรณ์ได้


เชื้อที่ดื้อยามักจะไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษานั้นยากขึ้น


เชื้อดื้อยาเหล่านี้เอง หากเกิดขึ้นแล้วมักจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นหรืออีกกลุ่มในการรักษาแทน แต่เชื้อเหล่านี้ก็อาจจะพัฒนาความสามารถในการต้านยาได้อีกเช่นกัน จนกลายเป็นเชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะใด ๆ โดยสมบูรณ์

ในการใช้ยาปฏิชีวนะโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง มักเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อโดยไม่มีข้อบ่งชี้ถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย หากในร่างกายมีเชื้อแบคทีเรียอยู่แล้ว การใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น การกินยาปฏิชีวนะไม่ครบ ไม่นานพอ การกินยาปฏิชีวนะไม่ถูกชนิดต่อเชื้อแบคทีเรีย การกินยาปฏิชีวนะหลายประเภท เมื่อมาผสมรวมกันถือเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์สำหรับแบคทีเรียในการวิวัฒนาการความสามารถในการต้านยาปฏิชีวนะ

หากเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องเป็นการสร้างสนามฝึกซ้อมให้แบคทีเรียสำหรับการวิวัฒนาการความสามารถในการต้านยา ดังนี้

- ให้เชื้อแบคทีเรียได้ลองเจอกับยาปฏิชีวนะที่เปรียบดั่งศัตรู แต่ศัตรูที่ไม่แรงพอและไม่มากพอจนตัวเองตาย - มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่นานพอ

- ให้เชื้อแบคทีเรียได้ลองเจอกับศัตรูหลายประเภทเพื่อเพิ่มความพร้อมของตนต่อศัตรูทุกประเภท - มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกประเภทหรือใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดพร้อมกัน

ด้วยเวลาที่มากพอ เชื้อเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเชื้อที่ดื้อยาขึ้นมา ซึ่งทำให้การรักษานั้นมีความยุ่งยากขึ้น และทำให้วิธีในการรักษานั้นมีน้อยลง หรืออาจไม่มีหนทางรักษาเลยในกรณีของเชื้อที่ดื้อยาทุกชนิด

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เชื้อแบคทีเรียดื้อยาเชื้อแบคทีเรียแบคทีเรียแบคทีเรียดื้อยาดื้อยายาปฏิชีวนะAntibioticsAntibiotic Resistanceกินยาปฏิชีวนะวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech WorldScience
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด