“ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” มีดวงจันทร์ภูเขาไฟแบบดวงจันทร์ไอโอหรือเปล่า


Logo Thai PBS
แชร์

“ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” มีดวงจันทร์ภูเขาไฟแบบดวงจันทร์ไอโอหรือเปล่า

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1747

“ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” มีดวงจันทร์ภูเขาไฟแบบดวงจันทร์ไอโอหรือเปล่า
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อเร็ว ๆ นี้นักดาราศาสตร์ได้พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีเมฆล้อมรอบดาวเคราะห์แม่ คล้ายกับดวงจันทร์ไอโอ บริวารของดาวพฤหัสบดีที่มีภูเขาไฟระเบิด ซึ่งทำให้นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่เราพบดวงจันทร์บริวารโคจรรอบดาวเคราะห์ที่ห่างไกล

แม้เราจะพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากมาย แต่เชื่อหรือไม่ว่าจนถึงตอนนี้เรายังไม่เคยค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเลยแม้แต่ดวงเดียว แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบกลุ่มเมฆที่ลอยล้อมรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาจจะเป็นหลักฐานการพบดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกและเป็นดวงจันทร์ภูเขาไฟที่มีลักษณะโดดเด่นเหมือนกับดวงจันทร์ไอโอด้วย

ภาพวาดจากจินตนการศิลปิน ดวงจันทร์ที่พ่นเถ้าถ่านและลาวาคล้ายดวงจันทร์ไอโอ

ดาวเคราะห์ที่พบเมฆล้อมรอบนี้คือ WASP-49 b ดาวเคราะห์ก๊าซนอกระบบสุริยะมีขนาดใกล้เคียงกับดาวเสาร์ โคจรรอบดาวฤกษ์ระบบคู่ WASP-49 ที่อยู่ห่างจากโลกไป 635 ปีแสง เบาะแสที่ทำให้เราคาดคิดว่าจะมีดวงจันทร์บริวารมาจากเมฆที่ล้อมรอบดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่ใช่ก๊าซปกติทั่วไปที่พบตามธรรมชาติในอวกาศ แต่เป็นก๊าซโซเดียม ซึ่งมีการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2017 แล้ว

เมื่อเราเปรียบเทียบกิจกรรมภูเขาไฟบนดวงจันทร์ไอโอกับปรากฏการณ์เมฆที่ล้อมรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้พบว่ามันคล้ายกันมาก โดยดวงจันทร์ไอโอนั้นจะพ่นก๊าซ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โซเดียม โพแทสเซียม และก๊าซอื่น ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถก่อตัวเป็นเมฆขนาดใหญ่รอบดาวพฤหัสบดีได้สูงถึง 1,000 เท่าของรัศมีดาวพฤหัสบดี นักดาราศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานว่าหากเจอดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีเมฆล้อมรอบขนาดใหญ่อาจจะเป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารได้

ภาพวาดจากจินตนาการของศิลปินถึงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวแม่และดาวฤกษ์ของมัน โดยดวงจันทร์มีการระเบิดและปลดปล่อยเถ้าถ่านภูเขาไฟออกมาต่อเนื่อง

WASP-49 b และดาวฤกษ์ของมันมีองค์ประกอบหลักคือก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ และมีโลหะปะปนอยู่เล็กน้อย ซึ่งทั้งดาวฤกษ์และตัวดาวเคราะห์นี้ไม่เพียงพอที่จะสร้างกลุ่มเมฆโซเดียมขนาดใหญ่ไหลโคจรรอบดาวเคราะห์เช่นนี้ได้ ดังนั้นทางเดียวที่จะสร้างได้ ซึ่งจากจำนวนของเมฆโซเดียมที่ล้อมรอบดาวคาดว่าน่าจะต้องมีแหล่งผลิตโซเดียมประมาณ 100 ตันต่อวัน

อีกทั้งข้อมูลเมฆนี้พบว่าตัวเมฆนั้นหมุนรอบดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วยอัตราเร็วที่ไม่สัมพันธ์กับการหมุนของชั้นบรรยากาศระดับสูงของดาวเคราะห์ดวงนั้น และที่สำคัญคือการพบเมฆนี้ไม่ได้เป็นลักษณะวงแหวนล้อมรอบดาวเพราะจากการสังเกตการณ์พบว่าเมื่อดาวเคราะห์ดวงนี้เคลื่อนที่ครบรอบการโคจรและกลับมาตัดหน้าดาวฤกษ์ของมันใหม่อีกครั้ง เมฆนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่เดิมที่เราสังเกตการณ์ได้ก่อนแล้ว แต่หากปรากฏการณ์เมฆเกิดจากดวงจันทร์จริงแล้ว ปรากฏการณ์ภูเขาไฟเป็นภูเขาไฟแบบใด จากความร้อนหลังการก่อกำเนิดหรือเป็นภูเขาไฟที่ได้รับแรงเครียดจากแรงไทดัล

ภาพถ่ายดวงจันทร์ไอโอ ดวงจันทร์ภูเขาไฟแห่งระบบสุริยะของเรา

ตอนนี้แม้จะยังไม่มั่นใจว่าเมฆที่ล้อมรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้จะเกิดจากดวงจันทร์จริงหรือไม่แต่นักดาราศาสตร์ที่เฝ้าสังเกตการณ์จะยังคงเฝ้ามันต่อไป เพียงแต่การสังเกตการณ์จากระยะห่างที่ 635 ปีแสงนั้น เมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ ทั้งดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ และเมฆก๊าซมันทับซ้อนกันในพื้นที่พิกเซลของภาพถ่ายที่ตำแหน่งที่เล็กมาก ๆ ยากต่อการประมวลผลข้อมูล ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงต้องติดตามดาวเคราะห์ดวงนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงจันทร์ไอโอดวงจันทร์ภูเขาไฟสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด