“จุดแดง” บนดาวพฤหัสบดีกำลังสั่น


Logo Thai PBS
แชร์

“จุดแดง” บนดาวพฤหัสบดีกำลังสั่น

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1749

“จุดแดง” บนดาวพฤหัสบดีกำลังสั่น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“จุดแดง” บน “ดาวพฤหัสบดี” เอกลักษณ์สำคัญบนดาวพฤหัสฯ ซึ่งเป็นพายุยักษ์ใหญ่ที่คงอยู่มานานกว่า 190 ปีแล้ว แต่จากการสังเกตการณ์ใหม่พบว่าตัวพายุนี้กำลังสั่นอยู่

ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ครอบคลุมทั้งดาวพฤหัสบดีในโครงการสำรวจความเปลี่ยนแลงของดาวเคราะห์ก๊าซของ NASA

นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีเป็นระยะเวลา 90 วันตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2023 ถึงมีนาคม 2024 ซึ่งการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีอย่างต่อเนื่องของกล้องฮับเบิลในครั้งนี้ทำให้พบกับปรากฏการณ์ที่น่าแปลกประหลาด ซึ่งก็คือ การค้นพบว่าจุดสีแดงที่เป็นพายุยักษ์ใหญ่ที่โดดเด่นบนดาวพฤหัสบดีกำลังสั่นอยู่

จุดแดงบนดาวพฤหัสบดีหรือพายุยักษ์สีแดง มันพัดหมุนวนในดาวพฤหัสบดีมานานกว่า 190 ปีแล้ว จากการศึกษาของเราในปัจจุบันคาดการณ์ว่าตัวจุดแดงนี้มีขนาดที่เล็กลงกว่าสมัยที่กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ผู้โด่งดังเคยสังเกตเห็นมันเป็นครั้งแรก แน่นอนว่าพายุที่หมุนวนย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่ข้อมูลจากการศึกษาใหม่ในครั้งนี้พบว่าพายุหมุนนี้มีการแกว่งไปมาตามละติจูดของดาวพฤหัสบดีและมันมีการเปลี่ยนขนาดจนดูเหมือนมันไม่ได้คงสภาพของมันได้ต่อเนื่อง

ภาพเปรียบเทียบการเลี่ยนแปลงของตาพายุหมุนสีแดงที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งและการส่ายของกระแสลม โดยภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

การสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่สามารถสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวเข้าและออกของพายุหมุนได้อย่างละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งจะมีช่วงที่เคลื่อนที่เร็วขึ้นและช้าลง และเมื่อมันหมุนเร็วเกินไปกระแสลมกรดที่ด้านบนและด้านล่างของพายุจะดันให้กระแสการหมุนในบริเวณนั้นออกไปและลดลงคล้ายกับว่าเป็นเหมือนเคลื่อนบีบพายุลูกนี้ไม่ให้มันหมุนเร็วเกินไป

พายุแดงยักษ์บนดาวพฤหัสบดีนั้นถูกจำกัดขนาดของมันด้วยกระแสลมกรดที่อยู่ทั้งด้านบนและด้านล่างของพายุ ไม่เหมือนกับพายุดำบนดาวเนปจูนที่ไม่มีกลไกจำกัดกระแสลมของพายุหมุน ซึ่งทำให้พายุหมุนของดาวพฤหัสบดีอาจจะมีขนาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ และมีการแกว่งคล้ายกับการสั่นเพื่อปรับจูนพลังงานในพายุ

ภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีจากยานแคสซินี โดยผ่านการตกแต่งโดย Kevin M. Gill

จากการติดตามในโครงการ Outer Planet Atmospheres Legacy (OPAL) ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสังเกตการณ์กระแสลมในดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ดวงต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 10 ปี ทำให้พบว่าจุดแดงยักษ์บนดาวพฤหัสบดีค่อย ๆ มีแนวโน้มที่เล็กลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสังเกตการณ์พายุหมุนยักษ์นี้ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับด้านอุทกพลศาสตร์ภายในดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์และสามารถนำมาใช้ในการคาดการณ์ร่วมกับอุทกพลศาสตร์บนโลกและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงอื่น ๆ ได้ด้วย

ในอนาคตทางทีมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและ OPAL คาดหวังว่าจะสามารถถ่ายภาพของตาพายุสีแดงยักษ์นี้ด้วยความละเอียดที่สูงขึ้นและภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ใช้ในการคาดการณ์และให้ค่าตัวแปรที่สำคัญเกี่ยวกับงานด้านอุทกพลศาสตร์และการไหลของของไหลในสถานะยิ่งยวดได้มากขึ้นอีกด้วย

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

จุดแดงบนดาวพฤหัสดาวพฤหัสบดีดาวพฤหัสฯดาวพฤหัสอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด