“พระเขี้ยวแก้ว” ได้มาประดิษฐานที่ประเทศไทย เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสสักการะตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 67 – 14 ก.พ. 68 ซึ่งถึงตอนนี้มีผู้คนหลั่งไหลกันไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นจำนวนมาก
Thai PBS ชวนมารู้จัก “พระเขี้ยวแก้ว” คืออะไร ? เหตุใดจึงเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้ชีวิตเป็นสิริมงคล
ความเป็นมาของ “พระเขี้ยวแก้ว” ที่มีเพียง 2 องค์ในโลก
พระเขี้ยวแก้ว คือพระทันตธาตุส่วนเขี้ยวของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี มีการกล่าวถึง “มหาปุริสลักขณะ” หรือผู้ที่เกิดมามีลักษณะพิเศษของบุคคลสำคัญไว้ มีระบุถึงลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของมหาบุรุษว่า “เขี้ยวทั้งสี่งามบริสุทธิ์” และมีความเชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ด้วยกัน แล้วเหตุใดพระเขี้ยวแก้วจึงมีเพียง 2 องค์ในโลก ?
เพราะเชื่อกันว่าพระเขี้ยวแก้วอีก 2 องค์ ได้ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และที่ภพพญานาค แห่งละ 1 องค์นั่นเอง
ส่วนพระเขี้ยวแก้วที่ประดิษฐานอยู่บนโลกนั้นมีอยู่ 2 องค์ ได้แก่
องค์ที่ 1 พระเขี้ยวแก้วที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเขี้ยวแก้ว กลางเมืองแคนดี้ ที่ศรีลังกา เรียกกันว่า พระเขี้ยวแก้วศรีลังกา
องค์ที่ 2 พระเขี้ยวแก้วที่วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน วัดที่มีความเป็นมาอันยาวนานกว่า 1,000 ปี ซึ่งถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1955 ภายในเจดีย์โบราณใกล้เมืองซีอาน ก่อนนำมาประดิษฐานวัดหลินกวง และมีการอัญเชิญไปประดิษฐานในประเทศต่าง ๆ มาแล้ว 16 ครั้ง โดยประเทศไทยเคยได้ประดิษฐานครั้งแรกเมื่อปี 2545 ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอันเป็นสิริมงคลหนึ่งของประเทศไทย
พระเขี้ยวแก้ว สัญลักษณ์แห่งอำนาจและปัญญา
ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้วเนื่องจากมีด้วยกัน 2 องค์ตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีความเชื่อหลัก ๆ แบ่งเป็น 2 ทาง ได้แก่ พระเขี้ยวแก้วศรีลังกา และพระเขี้ยวแก้วจีน ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วเชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วคือสิ่งสำคัญสูงสุดหนึ่งอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธ
สำหรับพระเขี้ยวแก้วศรีลังกา มีที่มาความเชื่อจากคัมภีร์มหาวงศ์ ที่บันทึกถึงการมาเยือนศรีลังกาของพระพุทธเจ้าเอาไว้ 3 ครั้ง ถือเป็นรากฐานศาสนาพุทธมาจนถึงปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วที่เป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้าจึงเชื่อกันว่า หากผู้ใดครอบครองจะเป็นผู้มีอำนาจดุจราชา ด้วยเหตุนี้ พระเขี้ยวแก้วศรีลังกาจึงประดิษฐานอยู่ประเทศศรีลังกามายาวนานกว่า 1,700 ปี และมีผู้คนเข้ามาสักการะอยู่เสมอ และไม่เคยถูกนำไปประดิษฐานที่อื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ในส่วนของพระเขี้ยวแก้วจากวัดหลินกวง เชื่อกันว่า ผู้คนต่างมองเห็นพระเขี้ยวแก้วในลักษณะและสีที่แตกต่างกัน บางคนเห็นเป็นสีทองล้วน บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วนหรือขาวหม่น ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พระเขี้ยวแก้วถือเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเดิม เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาและการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
“พระเขี้ยวแก้ว” มาประดิษฐานที่ไทย สักการะได้ที่ไหน ? อย่างไร ?
พระเขี้ยวแก้วจากวัดหลิงกวง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และในโอกาสการครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน
โดยจะเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่าง วันที่ 4 ธ.ค. 2567-14 ก.พ.2568 เป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 07.00 - 20.00 น. และจะอัญเชิญกลับประเทศจีนในวันที่ 15 ก.พ.2568
ทั้งนี้ พิธีสักการะจะมีขึ้นทุกวันแบ่งเป็น พิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า เวลา 10.00 น. – 12.00 น. และช่วงเย็น เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป และพิธีเจริญจิตตภาวนาซึ่งจะมีขึ้นทุกวันพระ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตามวันสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2568 กิจกรรมวันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่จีน) ในวันที่ 29 มกราคม 2568 และกิจกรรมวันมาฆบูชา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568
พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธา สามารถเดินทางไปสักการะได้ตามวันและเวลาที่กำหนด…