ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปัญหาของ “ครูทั่วโลก” ที่ไม่ได้มีแค่เรื่อง “เงิน”


Insight

15 ม.ค. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

ปัญหาของ “ครูทั่วโลก” ที่ไม่ได้มีแค่เรื่อง “เงิน”

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2173

ปัญหาของ “ครูทั่วโลก” ที่ไม่ได้มีแค่เรื่อง “เงิน”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

16 ม.ค. 68 วันครูแห่งชาติก็เวียนกลับมาอีกครั้ง แน่นอนว่าทุกโรงเรียนจะต้องมีกิจกรรมไหว้ครูเพื่อให้นักเรียนแสดงความเคารพต่อบุคลากรผู้เป็น “เรือจ้าง” ขณะเดียวกัน นี่ก็ควรจะเป็นโอกาสพูดคุยถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมชีวิตครูในไทยและทั่วโลกเช่นกัน


จากรายงานขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2573) ทั่วโลกจะต้องการบุคลากรครูเพิ่ม 44 ล้านคน และแค่ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) เพียงภูมิภาคเดียว จะต้องการครูกว่า 15 ล้านคนหรือคิดเป็น 1 ใน 3 จากตัวเลขประเมินทั้งหมด ส่วนในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันโรงเรียนกว่า 20,368 แห่งทั่วประเทศขาดครูรวมกัน 56,820 คน แม้ค่าเฉลี่ยประเทศของครูต่อจำนวนนักเรียนจะอยู่ที่ 5.2 ต่อ 100 คน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของยูเนสโกก็ตาม

ถึงครูจะยังคงเป็นอาชีพหนึ่งใน 10 อาชีพในฝันของกลุ่มเด็กอายุ 15 ปีทั่วโลก แต่เมื่อปี ค.ศ. 2018 โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ระบุว่า มีเยาวชนที่อยากจะเป็นครูไม่ถึงร้อยละ 2 ในหลายประเทศรวมถึงเดนมาร์กและสวิตเซอร์แลนด์ สิ่งนี้สอดคล้องกับสถานการณ์จำนวนครูที่ลดลง (teacher attrition) ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่นในอังกฤษ ครูใหม่ที่ผ่านการประเมินจำนวน 2 ใน 3 จะยังคงเป็นครูอยู่หลังจากปีที่ 6 ของการทำงาน และมีครูเพียงร้อยละ 40 ที่ปฏิบัติงานเกินกว่า 25 ปี

สำหรับหลายคนโดยเฉพาะเด็กจบใหม่นั้น อัตราค่าจ้างเริ่มต้นของครูเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าจะเป็นครูหรือไม่ อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมที่ยากลำบากขึ้นก็ส่งผลต่อการตัดสินใจด้วย

ทว่าในความเป็นจริง เงินไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่กระทบต่อจำนวนครูทั่วโลก

“เงินเดือน” อาจไม่สัมพันธ์กับ “ความพอใจ” ในการเป็นครูเสมอไป

ช่องว่างระหว่างรายได้ครูในแต่ละประเทศนั้นยังคงห่างกันมาก ในบางประเทศ ครูอาจได้รับเงินเดือนมากกว่าคนที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ด้วยวุฒิเท่ากัน 1.5-2 เท่าอย่างเช่นในสิงคโปร์ ลักเซมเบิร์ก โคลัมเบีย และแอฟริกาใต้ ขณะที่ในประเทศอย่างฮังการีหรือสหรัฐฯ ครูได้รับเงินเดือนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับคนในอาชีพอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน 

ส่วนในไทยนั้น มีความพยายามในการปรับอัตราเงินเดือนครูให้เทียบเท่ากับวิชาชีพอื่น ๆ ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2556 และเมื่อปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มเงินอุดหนุนฯ เงินเดือนครู จาก 15,000 บาท เป็น 18,150 บาท อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ห่างไกลบางแห่ง ยังคงมีครูอัตราจ้างที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่

สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ให้เงินเดือนครูสูงกว่าคนในอาชีพอื่น ๆ (ภาพจาก Roslan Rahman/AFP)

ทั้งนี้ยูเนสโกชี้ว่า เงินเดือนครูที่สูงในประเทศหนึ่งนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในประเทศนั้นหากนำเงินมาปรับเป็นดอลลาร์สหรัฐตามทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP: purchasing power parity) หากใช้เกณฑ์นี้วัด เงินเดือนของครูในประเทศแทบแอฟริกันใต้สะฮาราที่ดูเหมือนจะสูงนั้น จะน้อยกว่าเงินเดือนของคนจากอาชีพอื่น ๆ ที่มีวุฒิและคุณสมบัติเทียบเคียงกัน ยิ่งไปกว่านั้น แม้ครูในบางประเทศจะได้รับเงินเดือนสูงและมีอำนาจซื้อมาก แต่พวกเขาอาจไม่พึงพอใจกับอาชีพของตนเอง 

ตัวอย่างเช่นในซาอุดีอาระเบีย ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) เงินเดือนครูจะมีอำนาจซื้ออยู่ที่ 7,514 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 90,168 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอำนาจซื้อต่อหัวต่อปี (ประมาณ 55,768 ดอลลาร์) ทว่าครูในซาอุดีอาระเบียกลับมีความพอใจต่ออาชีพอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 38 ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่ศึกษาโดยการสำรวจนานาชาติด้านการสอนและการเรียนรู้ หรือทาลิส (TALIS: Teaching and Learning International Survey) เมื่อ 7 ปีก่อน อีกทั้งจีน อังกฤษ และโปรตุเกสนั้นยังติดอยู่ใน 10 อันดับรั้งท้ายของการศึกษาจากทาลิสชิ้นนี้

ภาระงานหนัก โควิด และความไม่เท่าเทียมล้วนผลักครูออกจากงานสอน

นอกจากรายได้และความพึงพอใจต่อวิชาชีพแล้ว ภาระงานหนัก โควิด-19 และความไม่เท่าเทียมในหลายมิติก็ผลักครูออกจากงานสอนมากขึ้นและอาจทำให้พวกเขาอยากเปลี่ยนอาชีพในที่สุด  

แม้การดูแลแนะแนวนักเรียนและการพูดคุยกับผู้ปกครองนั้นจะยังอยู่ในขอบข่ายงานของครู แต่ในหลายกรณีงานเหล่านี้ก็เสี่ยงที่จะสร้างความเครียดต่อครูได้ ในญี่ปุ่นนั้น ความรับผิดชอบต่อความสำเร็จของนักเรียนและการรับฟังความกังวลของผู้ปกครองก็กดดันครูมากขึ้นกว่าเดิม ครูในเกาหลีใต้ก็ประสบสถานการณ์ที่คล้ายกันจนต้องออกมาประท้วงและเรียกร้องให้มีการคุ้มครองทางกฎหมายหากพ่อแม่ของนักเรียนกลั่นแกล้งหรือฟ้องร้อง อีกทั้งครูราว 1 ใน 3 จาก 9,000 คนในสหรัฐฯ ยังเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางคำพูดหรือการข่มขู่ ทั้งจากนักเรียนและผู้ปกครอง

การประทัวงของครูในเกาหลีใต้ต่อการกลั่นแกล้งกดดันจากผู้ปกครอง (ภาพจากรายการทันโลก กับ Thai PBS 7 ก.ย. 66)

งานธุรการและการประเมินต่าง ๆ ก็เป็นภาระงานที่สร้างความเครียดแก่ครูด้วยเช่นกัน จากการสำรวจโรงเรียน 8 แห่งในสวีเดน การประเมินและการตรวจสอบส่งผลกระทบถึงความพึงพอใจต่อการทำงานของครู ทั้งยังปิดโอกาสที่ครูจะได้สำรวจทดลองสิ่งใหม่ ๆ ส่วนในไทยเอง ระหว่างการแถลงนโยบายเมื่อ 2 ปีก่อน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงแนวทางปรับลดภาระของครูโดยเฉพาะการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะ อย่างไรก็ตาม ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ จากศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะ 101 PUB ให้ความเห็นว่า แนวทางดังกล่าวนั้นไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารแบบรวมศูนย์ อันเป็นต้นตอของภาระงานต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน

สถานการณ์โควิด-19 เมื่อ 5 ปีก่อนได้เปลี่ยนวงการการศึกษาไปทั่วโลก ครูจำนวนไม่น้อยนั้นขาดทักษะทางเทคโนโลยี หรือต้องเสียเวลาส่วนตัวเพิ่มขึ้นในการเตรียมเนื้อหาให้เข้ากับรูปแบบการสอนที่เปลี่ยนไป จากการสำรวจครู 900 คนในประเทศลาตินอเมริกา 9 ประเทศ พบว่าพวกเขาต่างประสบปัญหาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และต้องใช้เวลามากขึ้นในการถามตอบข้อสงสัยของนักเรียนและผู้ปกครอง อีกทั้งบทความวิชาการของสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อนเผยว่า ครูประสบกับผลกระทบด้านลบทางสุขภาพจิตจากสถานการณ์โรคระบาดมากกว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และพนักงานประจำสำนักงาน

ความไม่เท่าเทียมในมิติต่าง ๆ ก็กีดกันครูและโอกาสทางการศึกษาของเด็กด้วยเช่นกัน อย่างเช่นในไทย เนื่องจากไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ทำให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในราชอาณาจักรไม่ได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมาย อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอำนาจโดยตรงในการจัดการศึกษาแก่ผู้หนีภัยภายในพื้นที่พักพิง เว้นแต่จะขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน และแม้โลกจะมีครูผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติต่อครูผู้หญิงนั้นยังคงเกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เช่น มาเลเซีย อินเดีย เคนยา และอาร์เจนตินา นอกจากนี้ การขาดผู้หญิงในบทบาทครูก็ทำให้เด็กผู้หญิงอยากเข้าสู่ระบบการศึกษาน้อยลง

คุณครูที่โรงเรียนสุเหร่าใหม่ กรุงเทพฯ กับการปรับตัวสอนหนังสือออนไลน์เมื่อ 4 ปีก่อน (ภาพจาก Thai PBS Media Stock)

แค่เพิ่มเงินเดือนจูงใจ ไม่เพียงพอต่อการสร้างครู

แน่นอนว่าการเพิ่มเงินเดือนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและอายุงาน ยังคงสำคัญในการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาประกอบอาชีพครู ในคาซัคสถาน มีการปรับเพิ่มเงินเดือนครูขึ้นร้อยละ 25 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020-2023 (พ.ศ. 2563-2566) จนขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้ครูรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนและเล็งเห็นความสำคัญมากขึ้นจากรัฐ 

การให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมก็อาจเป็นแนวทางจูงใจให้ครูออกไปสอนในพื้นที่ห่างไกล ในชิลี รัฐให้โบนัสครูที่มีศักยภาพสูงถึงร้อยละ 16 จากเงินเดือนประจำหากออกไปทำงานในโรงเรียนที่ล้าหลัง แม้จะรักษาจำนวนครูไว้ในระบบได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 แต่วิธีการดังกล่าวไม่ได้ดึงดูดให้ครูกลุ่มนี้ออกไปสอนในโรงเรียนเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งสองกรณีจากคาซัคสถานและชิลีสะท้อนให้เห็นว่า การเพิ่มเงินเดือนไม่ใช่วิธีการสามารถทำได้ทันทีและเห็นผลทันตาเพื่อแก้ปัญหาครูขาดแคลน

ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการและมาตรการอื่นที่ช่วยพัฒนาการศึกษาทั้งระบบและเพิ่มศักยภาพของครูไปพร้อมกัน ประการแรกคือการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศในโรงเรียนให้เป็นมิตรและปลอดภัย การศึกษากลุ่มตัวอย่างในระดับชั้นมัธยมต้นของสวีเดนพบว่า สภาพการทำงานมีส่วนสำคัญต่อความพึงพอใจในอาชีพครู รวมถึงการร่วมมือกันของครูและระเบียบวินัยของนักเรียนด้วย อีกทั้งผู้บริหารโรงเรียนก็สามารถช่วยส่งเสริมความเป็นมืออาชีพของครูได้ผ่านการกระจายอำนาจการตัดสินใจ ในฟินแลนด์ การสร้างเสริมภาวะความเป็นผู้นำนั้นก่อให้เกิดความร่วมมือและทำให้สถานะอาชีพครูมั่นคงขึ้น

ประการที่สอง ควรนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาใช้วางแผนการศึกษาและการจัดตารางทำงานของครูอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเช่นในฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ ถัดมา การจับคู่ต่างรุ่นก็อาจช่วยลดปัญหาครูลาออกได้ จากกรณีตัวอย่างจากเกาหลีใต้ เมื่อครูใหม่และครูที่มีประสบการณ์มาจับคู่ทำงานร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดทั้งสองฝ่าย ช่วยให้ครูใหม่ซึมซับการเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพ และเติมไฟให้ครูเก่าด้วย

อีกแนวทางหนึ่งคือ การจัดโครงการพัฒนาทางอาชีพ (PD: professional development) ให้แก่ครู งานวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ใน 14 ประเทศ เช่น กัมพูชา จอร์แดน อินเดีย ไนเจอร์ และรัสเซีย ระบุว่า โครงการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ จะต้องเสนอแนวทางไปสู่โอกาสต่าง ๆ ทางอาชีพ ต้องมีเนื้อหาและสื่อประกอบชัดเจน ต้องอบรมเจาะเฉพาะวิชาใดวิชาหนึ่ง ต้องจัดการอบรมแบบตัวต่อตัว นอกจากนี้ยังต้องฝึกฝนและติดตามพัฒนาการระหว่างครูด้วยกันเอง และขนาดของโครงการไม่ควรใหญ่เกินไป หากดำเนินงานได้ครบตามลักษณะดังกล่าว ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้ในท้ายที่สุดอีกด้วย

นอกจากงานสอน ครูยังต้องรับผิดชอบกับงานประเมินและภาระอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการสอน (ภาพจาก Thai PBS Media Stock)

ทั้งนี้ ไม่มีคำตอบหรือวิธีการตายตัวในการแก้ปัญหาจำนวนครูขาดแคลน ที่สุดแล้ว เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่สำคัญยิ่งคือความจริงใจและความตรงไปตรงมาระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง ไปจนถึงผู้ออกแบบนโยบายและผู้มีอำนาจ และไม่ควรมองว่าครูเป็นเพียง “เรือจ้าง” แต่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาคนให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพและคิดเชิงวิเคราะห์เป็น

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในเครือ Thai PBS

อ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ระบบการศึกษาวันครูครูยกระดับการศึกษา
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าจากอักษร จุฬาฯ และโปรแกรมอีราสมุส มุนดุสด้านวรรณกรรมยุโรป ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสธารของพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม และยังคงเรียนรู้ที่จะเติบโตในทุก ๆ วัน I porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด