ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

10 เรื่องน่ารู้ “สะพานทศมราชัน”


Lifestyle

15 ม.ค. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

10 เรื่องน่ารู้ “สะพานทศมราชัน”

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2176

10 เรื่องน่ารู้ “สะพานทศมราชัน”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เป็นอีกวาระที่ประชาชนให้ความสนใจ สำหรับการเปิดใช้ “สะพานทศมราชัน” เต็มรูปแบบในวันที่ 29 มกราคม 2568 Thai PBS ชวนทำความรู้จักสะพานที่ว่ากันว่า มีความกว้างที่สุดของประเทศไทย มีเรื่องอื่นใดอีกบ้างที่ควรรู้ สรุปมาให้ทราบกัน 10 ข้อ ดังนี้

1.”สะพานทศมราชัน” สะพานข้ามแม่น้ำกว้างที่สุดของประเทศ

สะพานทศมราชัน เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีความกว้างราว 42 เมตร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างที่สุดของประเทศไทย รองรับการจราจรได้ถึง 8 ช่องจราจร

2. ความหมายของชื่อ “สะพานทศมราชัน” 

เดิมที “สะพานทศมราชัน” มีชื่อว่า สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อสะพานนี้ว่า "ทศมราชัน" ซึ่หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 นอกจากนี้ประชาชนยังเรียกสะพานแห่งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า สะพานพระราม 10

3.”สะพานทศมราชัน” สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ?

สะพานทศมราชัน สร้างขึ้นเพื่อใช้งานทดแทนสะพานพระราม 9 ที่ปิดปรับปรุง ภายหลังเปิดทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ 

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณากำหนดให้สะพานแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศํกราช 2562 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

4. “สะพานทศมราชัน” ใช้เวลาก่อสร้างเท่าไร ?

สะพานทศมราชัน เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ใช้เวลาการก่อสร้าง 1,170 วัน (ประมาณ 39 เดือน) โดยเริ่มลงเสาเข็มแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้ทำพิธีเทคอนกรีตจุดสุดท้ายเชื่อมต่อสะพานอย่างเป็นทางการ ทำให้โครงสร้างของสะพานขึงเชื่อมกัน 100% จากนั้นจึงเป็นช่วงเก็บรายละเอียดโครงสร้าง รวมถึงการตกแต่งสถาปัตยกรรมต่าง ๆ จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566

5. “สะพานทศมราชัน” สะพานที่นำเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อความปลอดภัย

สะพานทศมราชัน เป็นสะพานขึงเสาคู่ สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง สามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กม.ต่อ ชม.หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานแห่งนี้มีความแข็งแรงมั่นคง รองรับเหตุแผ่นดินไหวหรือพายุ ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงาม ด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นไทยอันทรงคุณค่า

6. “สะพานทศมราชัน” สะพานที่มีสถาปัตยกรรมล้ำค่า

สะพานทศมราชัน ได้รับการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย รวมทั้งมีงานประติมากรรมอันละเอียดประณีต นอกจากนี้ รูปแบบการตกแต่งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 10  อาทิ งานประติมากรรมพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปีมะโรง นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเสาขึงรั้วกันกระโดด ที่สื่อถึงต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์อีกด้วย

7. “สะพานทศมราชัน” มีคุณลักษณะโดยรวมอย่างไร?

นอกจากจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างที่สุดของประเทศกว่า 42 เมตร สะพานทศมราชัน ยังมีคุณลักษณะอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ตัวสะพานมีความยาว 781.20 เมตร ช่วงกลางสะพานมีความยาว 450 เมตร รวมความยาวทั้งหมดของสะพานยาว 2 กิโลเมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 41 เมตร บริเวณเสาขึงมีความสูง 87 เมตร เทียบเท่ากับสะพานพระราม 9 ที่ตั้งตระหง่านคู่กัน

8. “สะพานทศมราชัน” สะพานที่เชื่อมต่อคนสองฝั่งของกรุงเทพ

สะพานทศมราชันมีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทั้งหมดถือเป็นเส้นทางแห่งการสัญจรที่เชื่อมต่อคนกรุงเทพ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน โดยคาดการณ์ว่า สะพานแห่งนี้จะมารองรับปริมาณรถยนต์ได้มากถึง 150,000 คันต่อวันเลยทีเดียว

9. ประชาชนสามารถสัญจรด้วย ”สะพานทศมราชัน” อย่างไร ?

หลังการการเปิดใช้สะพานทศมราชันแบบเต็มรูปแบบ ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้โดยเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ ใช้ทางขึ้นบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อใช้งานสะพาน โดยสามารถวิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าบางนา-ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ - ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่

ส่วนเส้นทางขาออกกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานทศมราชัน บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลง บริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ไปเพื่อถนนพระรามที่ 2

10. “สะพานทศมราชัน” เปิดใช้เต็มรูปแบบเมื่อไร 

สะพานทศมราชัน เตรียมเปิดให้รถยนต์ประชาชนวิ่งสัญจรได้เต็มรูปแบบในวันที่ 29 มกราคม 2568 แต่ก่อนหน้านั้น ยังมีกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัวสะพาน อาทิ 

  • งานกิจกรรมมหกรรมสุขเต็มสิบ จัดขึ้นระหว่าง 10 – 19 มกราคม 2568 มีการออกร้านขายสินค้า ท่ามกลางบรรยากาศวิวสวยของแม่น้ำเจ้าพระยา 
  • งานเดิน-วิ่ง เปิดสะพานพระราม 10 โดยเปิดให้ประชาชนสมัครเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้ งานจัดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2568

ถือเป็นอีกหนึ่ง “สะพานประวัติศาสตร์” ที่นอกจากจะสร้างประโยชน์ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรของ กทม. ยังเป็นสะพานที่มีความงดงาม และเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ให้กับประเทศชาติอีกด้วย
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สะพานทศมราชันสะพานพระราม 10ในหลวง รัชกาลที่ 10สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด