วันนี้ (18 เม.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับท่าทีของพรรคการเมืองไทย ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่า จนถึงขณะนี้ มีพรรคการเมืองที่ออกมาแสดงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว 4 พรรคด้วยกัน โดยมีทั้งที่รับร่างฯ โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่รับร่างฯ ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป และบางพรรคยังไม่แสดงท่าที โดยให้เหตุผลว่าขอเวลาพิจารณาศึกษาอีกระยะหนึ่ง
ส่วนจำนวนประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติจำนวน 50 ล้านคน หากออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 80 หมายความว่าเสียงข้างมากที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติต้องอยู่ที่ 21 ล้านเสียง ส่งผลให้คสช. กรธ. และ กกต. ต้องทำงานหนักไม่น้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานต่ออีกว่า แม้ใจความการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเป็นการตอบคำถามต่อท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แถลงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง พร้อมร้องขอให้ คสช. เปิดเผยแนวทางรองรับร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
แต่ในส่วนหนึ่งกลับแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของ คสช. ว่า ไม่กังวลหรือหวั่นไหวหากฐานเสียงทางการเมืองของแต่ละพรรค ไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนายกรัฐมนตรียังโยนคำถามกลับไปยังประชาชนว่า จะเชื่อมั่นและศรัทธาใคร ระหว่างพรรคการเมืองที่มีแต่ความวุ่นวายจนต้องเกิดเหตุการณ์รัฐประหารครั้งล่าสุด ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 หรือจะเชื่อนายกฯ ที่พยายามทำให้บ้านเมืองดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากย้อนกับไปดูท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ในส่วนของพรรคเพื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งคำถามถึงการยึดโยงกับประชาชน ขณะเดียวกันทางพรรคได้ออกแถลงการณ์ย้ำว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล ออกมาประกาศพร้อมรับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเงื่อนไข และยอมรับในกติกาที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้น โดยพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นทางเลือกของประชาชน
ขณะที่ พรรคชาติไทยพัฒนาตอบรับที่จะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งนายบรรหาร ศิลปอาชา เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยมีข้อดีที่สามารถหักล้างข้อเสียที่อยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากแสดงท่าทีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังกังวลในประเด็น ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน และรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่อาจมีปัญหาในเรื่องดุลอำนาจ เพราะหาก ส.ว.สรรหา สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างมากจะเกิดภาวะเสียงข้างมากที่เบ็ดเสร็จ แต่ถ้า ส.ว.สรรหาเทคะแนนสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะทำให้รัฐบาลเลือกตั้งไร้เสถียรภาพ
เช่นเดียวกับ เครือข่ายนักวิชาการสิทธิพลเมืองที่แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผลด้านสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนความเป็นประชาธิปไตย
จึงเป็นเรื่องที่ คสช. กรธ. หรือแม้แต่ กกต. ต้องหาวิธีจัดการรับมือเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ