ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ศรีวราห์" ไม่ยืนยัน "พระธัมมชโย" อยู่ที่วัดพระธรรมกาย-ดีเอสไอประชุมวันนี้

อาชญากรรม
28 พ.ย. 59
07:43
399
Logo Thai PBS
"ศรีวราห์" ไม่ยืนยัน "พระธัมมชโย" อยู่ที่วัดพระธรรมกาย-ดีเอสไอประชุมวันนี้
วันนี้ (28 พ.ย.2559) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การจับกุมพระธัมมชโย ขณะที่รอง ผบ.ตร.ระบุยังขอหมายค้นไม่ได้เพราะยังยืนยันสถานที่อยู่ไม่ได้

หลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นควรสั่งฟ้องพระธัมมชโยในข้อหาฟอกเงินและรับของโจรจากคดีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2559 และได้ประสานให้ดีเอสไอนำตัวผู้ต้องหามาส่งพนักงานอัยการ ดีเอสไอได้ประชุมประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนการจับกุมพระธัมมชโย ซึ่งเชื่อว่ายังคงอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากับคณะศิษยานุศิษย์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นจากการพยายามเข้าจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

นอกจากคดีทุจริตสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่นแล้ว พระธัมมชโยยังถูกออกหมายจับในข้อหาบุกรุกป่า สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซวัลเล่ย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) การที่ตัวแทนพระธัมมชโยออกมาเจรจากับตำรวจ ทำให้เห็นเจตนาในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหากพระธัมมชโยเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในคดีบุกรุกป่า ดีเอสไอก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าเจรจาให้รับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรในคราวเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อดำเนินการตามหมายจับกับพระธัมมชโยนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องขอหมายค้นจากศาล เนื่องจาก "กุฏิพระ" เป็นสถานที่รโหฐานที่ต้องขอหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สำหรับการจับกุมบุคคลในที่รโหฐานนั้น กฎหมายระบุว่าแม้มีหมายจับแล้ว ย่อมต้องมีหมายค้นด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 ระบุว่า การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก แต่มีข้อยกเว้นในวงเล็บ 3 ว่า การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญ จะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจยังไม่ได้ขอหมายค้นจากศาลเพื่อจับกุมพระธัมมชโย เนื่องจากยังไม่ทราบตำแหน่งที่อยูที่ชัดเจนของพระธัมมชโย

"ตอนนี้ให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่ตรวจสอบอยู่ แต่ยังไม่พบพระธัมมชโย เมื่อยังไม่พบก็ไปขอหมายค้นจากศาลไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการยื่นคำร้องเท็จ ต้องมีบุคคลยืนยันว่าเห็นตัวอยู่" พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว

ขณะที่นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายยืนยันว่า พระธัมมชโยยังรักษาอาการอาพาตอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย แต่ยอมรับว่าครั้งสุดท้ายที่ได้พบพระธัมมชโย คือ วันที่นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมอาการอาพาต

"พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยพักรักษาอาการอาพาธอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย โดยการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดมาตลอด อาการอาพาธของท่าน คณะแพทย์แนะนำให้งดการเดินทาง ทำให้ท่านไม่สามารถไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ ท่านยังคงอยู่ที่วัด และถ้าท่านเดินทางออกจากวัดได้ ก็คงจะดำเนินการอะไรต่างๆ ตั้งแต่ต้นแล้ว" นายองอาจระบุ

พระธัมมชโยเป็น 1 ในผู้ต้องหา 5 คนในคดีทุจริตเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ซึ่งประกอบด้วย

ผู้ต้องหาที่ 1 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ขณะนี้ถูกจำคุกจากคดีอื่น
ผู้ต้องหาที่ 2 พระเทพญาณมหามุนี หรือ "พระธัมมชโย" เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องในฐานความผิดฟอกเงินและรับของโจร แจ้งให้ดีเอสไอนำตัวมาส่งเจ้าพนักงานอัยการ
ผู้ต้องหาที่ 3 น.ส.ศรัณยา มานหมัด อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษนำตัวส่งเจ้าพนักงานอัยการแล้ว
ผู้ต้องหาที่ 4 นางทองพิน กันล้อม อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษนำตัวส่งเจ้าพนักงานอัยการแล้ว
ผู้ต้องหาที่ 5 น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ อัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องในฐานความผิดฟอกเงินและรับของโจร แจ้งให้ดีเอสไอนำตัวมาส่งเจ้าพนักงานอัยการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง