วันนี้ (22 มี.ค.2560) พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวถึง กรณีที่มีข้าราชการบำนาญกรมศิลปากร วิจารณ์ คสช.ที่เข้าร่วมดำเนินการรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ โดยไม่มีการศึกษาประวัติศาสตร์และมุ่งเพียงการจัดระเบียบสังคมเท่านั้น ว่า การพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นการดำเนินการร่วมกันของหลายหน่วยงาน เช่น กทม.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมศิลปากร ในรูปแบบของคณะกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาร่วมให้คำแนะนำ โดยมี กทม.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการโดยพิจารณาผลกระทบในทุกมิติ ทั้งตามขั้นตอนของกฎหมาย วิถีชุมชน เอกลักษณ์ความเป็นโบราณสถาน มีกรอบการทำงานที่ต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด มีการเยียวยากับประชาชนในชุมชน ดำเนินการด้วยความละมุนละม่อมมาโดยตลอด
ดังนั้น การที่ คสช.เข้าให้การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬ ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงจัดระเบียบพื้นที่ให้เกิดความเรียบร้อยเท่านั้น หากแต่ได้คำนึงถึงกฎหมาย อัตลักษณ์และความร่วมมือของชุมชน รวมถึงประโยชน์ในการใช้พื้นที่ร่วมกันของประชาชนเป็นส่วนรวม ตามกระบวนการพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐ ซึ่งหากพิจารณาสภาพของชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบันจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนกับวิถีของชุมชนนี้ในอดีต และคงจะทำให้ได้เข้าใจถึงความจำเป็นของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้าพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ โดยยังดำรงความเป็นโบราณสถานไว้
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า การจัดระเบียบสังคมที่ คสช.เข้าดำเนินการในแต่ละพื้นที่ มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น จัดระเบียบเพื่อบังคับใช้กฎหมาย จัดระเบียบเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย จัดระเบียบเพื่อเกิดความร่วมมือและข้อตกลงร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนที่จะเข้าดำเนินการหรือให้การสนับสนุน ได้ศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงานอย่างรอบคอบ กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง คสช.ได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา พิจารณาแนวทางที่ชุมชนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมในอนาคต และเป็นพื้นที่ของส่วนรวมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2492 และตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมารัฐบาลทุกสมัย มีการปรับปรุงป้อมมหากาฬ ให้มีความสะอาดเรียบร้อย และเป็นการอนุรักษ์โบราณและสถาปัตยกรรมของไทยมาโดยตลอด รวมทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พร้อมทั้งได้ออก “พ.ร.ก. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. ปี 2535” เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและโบราณสถาน โดยมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขอความร่วมมือจากชุมชน