เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.2560) จากการสำรวจการแพร่การกระจายพันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ เอเลียนสปีชีส์ ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ต่อเนื่องมากว่า 3 สัปดาห์ ทีมข่าวไทยพีบีเอสพบว่าคลองสายหลักใน ต.แพรกหนามแดง และ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา ทั้งคลองดอนจั่น หรือคลองหลวง คลองเจ็ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก เต็มไปด้วยการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ หากรวมการแพร่ระบาดในบ่อเลี้ยงกุ้งและเลี้ยงปลา เนื้อที่เกือบ 10,000 ไร่ มันน่าจะมีจำนวนหลายร้อยตัน จำนวนที่มากเช่นนี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการกำจัด จนเริ่มส่งผลกระทบไปจังหวัดข้างเคียง อย่าง อ.บ้านเเหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่คลองทั้งหมดในพื้นที่ระบาดใน อ.อัมพวา ไหลไปบรรจบ
จากข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทา พบว่าความหลากหลายชนิดพันธุ์ปลาในพื้นที่คลองยี่สาร มีสัตว์น้ำท้องถิ่นกว่า 40 ชนิด เช่น ปลากระบอก ปลาอีกง ปลาตะกรับ และปลาโหลี แต่ชาวบ้านเริ่มพบปลาเหล่านี้ได้น้อยมาก หลังจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำ และจากการตรวจสอบของทีมข่าวไทยพีบีเอส พบข้อมูลว่าปลาหมอสีคางดำถูกน้ำเข้ามาจากประเทศหนึ่งในทวีปเเอฟริกา เมื่อช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ในลักษณะให้เป็นปลาเศรษฐกิจ กระทั่งมีการระบาดอย่างหนักในแหล่งน้ำ เพราะขาดการควบคุม