วันนี้ (25 ก.ย.2563) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เคียงดวงจันทร์ข้างขึ้น 9 ค่ำ ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศใต้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป หากฟ้าใสไร้ฝน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
หากใครลองสังเกตท้องฟ้าในช่วงนี้ จะเห็นดาวพฤหัสบดี กับดาวเสาร์ ค่อยๆ ขยับเข้าใกล้กันเรื่อยๆ ไปจนถึงวันที่ 20-23 ธ.ค.2563 ดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏใกล้กันมากที่สุด ดูด้วยตาเปล่าจะมองเห็นเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน เรียกว่า ปรากฏการณ์ “The Great Conjunction” ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะใกล้กันมากที่สุดในรอบกว่า 397 ปี
เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากมาก น่าจับตาและติดตามมาก
สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นการที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ
คืนนี้มี #ดาวเคียงเดือน