เป็นการปรับทัพใหญ่ของรัฐบาล ที่ยังต้องเจอกับสาระพันเรื่อง ทั้งการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล การจุดกระแสมวลชนลงถนนขับไล่รัฐบาล ยังไม่นับเรื่องถูกร้อง (เรียน) จากบรรดานักร้องเรียน และเสียงขู่เข้ม จากนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ว่า เช้าวันที่ 10 ต.ค.จะมีเหตุฟ้าถล่มและล่มสลายของพรรคเพื่อไทย
จึงได้เห็นการประกาศแต่งตั้งข้าราชการการเมืองอีก 1 ชุดใหญ่ รวมทั้งโฆษกรัฐบาล นำโดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ และทีมที่ปรึกษานายกฯ อีก 1 ชุด ที่นำโดย นายชัยเกษม นิติสิริ
และยังมีทีมงานด้านมวลชน มีนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง และ นปช. กลับมาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
คล้ายกรณีนายเศรษฐา ทวีวิน แต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม เมื่อครั้งยังเป็นนายกฯ แต่ไม่ใช่ตำแหน่งการเมือง ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่มีเงินเดือน
ผลจากรัฐบาลประเมินว่า ตั้งแต่สมัยนายเศรษฐาเป็นนายกฯ การสื่อสารงานด้านมวลชนกับประชาชนและเอฟซี ยังด้อยเกินไป เมื่อเปลี่ยนหัวเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จึงต้องปรับเสริมจุดด้อยดังกล่าว ให้เข้มข้น เพื่องานด้านมวลชน และสามารถทำงานในเชิงรุกได้
ฟังจากปากของนายณัฐวุฒิ ชัดเจนว่า ได้รับการทาบทามตั้งแต่ปลายสมัยนายเศรษฐาแล้ว ไม่ใช่ต้องการตำแหน่ง แต่เพื่อช่วยงาน ช่วยคิด และช่วยทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ปลอดโปร่งขึ้น เป็นงานที่เกี่ยวกับนายกฯ น.ส.แพทองธาร กับรัฐบาลเป็นหลัก
เท่ากับชัดเจนว่า ภารกิจสำคัญคือ ช่วยนายกฯ แพทองธาร ที่กำลังเจอสารพัดเรื่อง พุ่งเข้าหาโดยตรง และได้มีการปรึกษาและนายทักษิณต้องการให้ “คัมแบ๊ค” สู่เวทีการเมืองในจังหวะนี้
กับภารกิจสำคัญด้านมวลชนที่ได้รับมอบหมายนี้ หากเป็นเมื่อก่อนอาจไม่เป็นปัญหาสำหรับนายณัฐวุฒิ เพราะเคยสร้างผลงานจากการจัด “รายการความจริงวันนี้” ของ 3 เกลอร่วมกับนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ นับตั้งแต่เริ่มมีกีฬาสีการเมืองเกิดขึ้น นับตั้งแต่ประเทศเจอกับปัญหาก่อหวอดตั้งม็อบ หลังรัฐประหารปี 2549
นายณัฐวุฒิเคยรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ โควต้าของนปช. ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อเนื่องรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ แต่เนื่องจากเป็นหนึ่งในแกนนำมวลชนเสื้อแดง เคลื่อนไหวหลายกรณี รวมบุก “บ้านป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550
ต่อมาจึงถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ร่วมกันแกนนำคนอื่น ๆ อาทิ นายวีระกานต์ นพ.เหวง โตจิราการ คนละ 2 ปี 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ก่อนจะได้ลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2563 เข้าสู่เกณฑ์พักโทษ และพ้นโทษเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564
กลับไปช่วยงานที่พรรคเพื่อไทย เดินสายไปร่วมเวทีปราศรัยในการเดินสายหาเสียงของ น.ส.แพทองธาร ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ในฐานะผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย และประกาศชัดเจนว่า พรรคจะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรค 2 ลุง เช่นเดียวกับแกนนำคนอื่น
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยกลับลำ ไปดึง 2 พรรคลุงมาร่วมรัฐบาล นายณัฐวุฒิจึงประกาศยุติบทบาททางการเมือง กลับไปดูแลกิจการร้านอาหารเยี่ยมใต้ ที่นายทักษิณ เคยยกทีมงานชุดใหญ่ไปเยี่ยม และให้กำลังใจตอนเปิดสาขา 2 มาแล้ว
สำหรับปัจจุบัน ในมุมมองของนายทวิสัณฑ์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ กลับเปรียบเทียบว่าเป็นสินค้าเดิม ที่ต้องพิสูจน์ความนิยมของผู้บริโภค ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะส่วนหนึ่ง ลูกค้าที่เคยมีอาจตามไปสนับสนุนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เสมือนปั้นแบรนด์ใหม่ และมีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นเอฟซีอยู่
ยิ่งกรณีถูกวิพากษ์ว่า “กลับคำ” จากเดิมที่เคยประกาศยุติบทบาททางการเมือง ช่วงก่อนหน้านี้ เชื่อว่า จะมีผลในยุคที่คนทั่วไปให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม และคำสัญญาของนักการเมือง แต่อาจไม่มีตัวเลือกอื่น
ความท้าทายในภารกิจที่ได้รับ โดยเฉพาะงานด้านมวลชน จึงจะเพิ่มเป็นทวีคูณ แม้ น.ส.แพทองธาร จะปฏิเสธว่า ไม่ใช่เรื่องรับมือกับสถานการณ์และแรงกดดันทางการเมือง ช่างเวลาที่มีการจุดกระแสมวลชนลงถนนขับไล่รัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติ ปฏิเสธภารกิจนี้ไปไม่ได้ เช่นเดียวกับถึงวันหนึ่ง จะเลี่ยงการเผชิญหน้ากับ “คู่ซี้เก่า” นายจตุพร ที่เคยทำงานร่วมกัน และรู้ไส้รู้พุงกันดี ไปไม่ได้
ขณะที่แค่วันแรกก็มีท่าทีที่ไม่เห็นด้วย กับการกลับคำคืนสู่เวทีการเมือง ทั้งจากที่เคยเป็นพันธมิตรกัน และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลแล้ว
จึงเป็นเรื่องเหนื่อยอย่างยิ่งสำหรับการ “คัมแบ๊ค” ของนายณัฐวุฒิ
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว :"กมธ.การกฎหมาย" ห่วงคดี "ตากใบ" หมดอายุความ
ญาติร้องรัฐช่วยตามหา 3 ลูกเรือ เหตุเรือประมงอับปางน่านน้ำมาเลเซีย
4 พืชใหม่ของโลก "หยาดวานรพักตร์" ดอกไม้หน้าลิงสุดแปลก