นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ชี้แจงว่าช่วง 6 - 7 เดือนที่ผ่านมาทางจังหวัดได้ร่วมกับหน่วยงานราชการ ทั้งทหารฆณฑลทหารบกที่ 19 กรมทรัพย์สินทางปัญหาและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกวาดล้างสินค้าระเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องตามมาตรการที่เรียกว่า "สระแก้วโมเดล"
"พูดกันตรงๆ ว่าปัญหานี้แก้ไขได้ค่อนข้างยาก เพราะว่าเหมือนกับว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ค้า แต่ผมก็พยายามบอกเขามานานแล้วว่ามันจำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่หยุดพฤติกรรมทำผิดกฎหมาย เราก็ต้องดำเนินคดี เราอยากให้ตลาดโรงเกลือเป็นตลาดสินค้ามือสอง อยากให้เน้นไปที่การขายสินค้ามือสองมากกว่า แต่ในทางปฏิบัติทำค่อนข้างยาก เพราะตลาดโรงเกลือเป็นตลาดขนาดใหญ่ เวลาเชิญผู้ประกอบการมาพูดคุยก็ไม่ทั่วถึง แต่เราก็พยายามประชาสัมพันธ์" นายภัครธรณ์กล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางจังหวัดได้ประสานไปยังสถานกงสุล รวมถึงการหารือกับฝั่งกัมพูชา แต่ยอมรับว่ายังมีสินค้าผิดกฎหมายเล็ดลอดเข้ามาต่อเนื่อง และช่วงเย็นวันนี้ (4 ก.พ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ฝ่ายความมั่นคง และตัวแทนผู้ค้าจากตลาดโรงเกลือเข้าร่วมหารือ แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง
สำหรับเส้นทางการนำสินค้าเข้ามาขายที่ตลาดโรงเกลือนั้น จากการติดตามของทีมข่าวไทยพีบีเอสเมื่อปี 2557 พบว่า ปกติแล้วสินค้าที่นำเข้ามาจะต้องผ่านด่านพรมแดนถาวรที่บ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งติดกับเมืองปอยเปตของกัมพูชา สินค้าที่เข้ามาโดยถูกต้องจะผ่านช่องทางนี้ โดยเสียภาษีศุลกากรตามขั้นตอน แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรับเงินจากผู้ส่งสินค้า อำนวยความสะดวกผ่านแดนได้โดยไม่ต้องไปผ่านด่านศุลกากรจะถูกกว่าเสียภาษีปกติ
โดยเส้นทางการนำสินค้าเข้ามาโดยผิดกฎหมายนั้น มีทั้งเข้าทางด่านคลองลึกตามปกติ และนำเข้าทางอื่นตลอดชายแดนกัมพูชาช่วงอำเภออรัญประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นราบ ขนส่งได้สะดวก วิธีการที่ ป.ป.ท.พบเมื่อปี 2557 คือมีชาวกัมพูชาขนสินค้าใส่รถเข็น จากนั้นมีรถกระบะจากฝั่งไทยมารับสินค้าวิ่งไปตามถนนเรียบชายแดนศรีเพ็ญ นำสินค้าไปรวมที่ตลาดโรงเกลือ ไม่ว่าจะเข้าทางไหนสินค้าจะไปรวมที่โรงเกลือ